(เพิ่มเติม) IRPC มองแนวโน้มผลงานโค้งสุดท้ายฟื้นตัว หลังพลิกขาดทุนใน Q3/62 ตามรายได้หด-ขาดทุนสต็อก

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 4, 2019 19:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) คาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/62 มีสัญญาณที่ดีขึ้น จากการเจรจาทางการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตลาด

ขณะเดียวกันเตรียมได้รับผลดีจากการที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ซึ่งส่งผลทำให้ความต้องการน้ำมันเตากำมะถันต่ำเพิ่มสูงขึ้นมาก และ IRPC เป็นโรงกลั่นเดียวในประเทศที่มีหน่วยกำจัดกำมะถันในน้ำมันเตา ซึ่งจะสามารถทำการผลิตได้เต็มที่ โดยบริษัทฯ รับรู้รายได้จากการจำหน่ายน้ำมันเตากำมะถันต่ำตามมาตรฐานเป็นรายแรกของประเทศแล้วในไตรมาส 3 และคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการขายเป็นเท่าตัวในไตรมาส 4 จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังได้รับประโยชน์จากความต้องการน้ำมันดีเซล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมน้ำมันเตาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ IMO กำหนดเพิ่มสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะมีรายได้มากขึ้นจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเม็ดพลาสติกพีพี คอมพาวด์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ตามนโยบายของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาวด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ และ การซื้อขายเม็ดพลาสติกผ่าน E-commerce platform "Plastket.com"

นายนพดล ยังได้กล่าวถึงภาพรวมของราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/62 ว่า ตลาดยังคงจับตามองการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ซึ่งมีสัญญาณในตลาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ รวมทั้งการกลับมาผลิตของโรงกลั่นหลังการปิดซ่อมบำรุง ทำให้มีความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น โดยมีแรงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศโอเปก ที่ยังคงมาตรการควบคุมปริมาณการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบต่อเนื่องยาวไปถึงเดือน มี.ค.63 อีกทั้งความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงราคา

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 1,321 ล้านบาท จากที่มีกำไรสุทธิ 2,560 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังรายได้จากการขายสุทธิ 54,264 ล้านบาท ลดลง 21% ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาขายปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ โดยการใช้น้ำมันดิบเข้ากลั่นอยู่ที่ 193,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 5% ขณะที่มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) จำนวน 5,563 ล้านบาท หรือ 10.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 2,104 ล้านบาท หรือ 27% ส่วนใหญ่จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีปรับตัวลดลงจากผลกระทบของสงครามการค้า รวมถึงต้นทุน Crude Premium เพิ่มสูงขึ้น

ประกอบกับ กำไรจากสต็อกน้ำมันสุทธิลดลง 2,404 ล้านบาท จากกำไรจากสต็อกน้ำมันสุทธิ 1,071 ล้านบาทในไตรมาส 3/61 พลิกมาเป็นขาดทุนจากสต็อกน้ำมันสุทธิ 1,333 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) มีจำนวน 4,230 ล้านบาท หรือ 7.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 4,508 ล้านบาท หรือ 52%

ขณะที่มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 738 ล้านบาท ลดลง 4,520 ล้านบาท หรือ 86% นอกจากนี้กำไรจากการลงทุนลดลง 95 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิจำนวน 166,240 ล้านบาท ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ โดยอัตราการกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 200,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 9,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากโรงงาน RDCC และโรงกลั่นน้ามัน (ADU 1) หยุดซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาสที่ 1/62 และไตรมาสที่ 3/62 ตามลำดับ

บริษัทมี Market GIM จำนวน 15,950 ล้านบาท หรือ 9.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 8,779 ล้านบาท หรือ 36% เนื่องจากส่วนต่างราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก จากผลกระทบของสงครามการค้า การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่ รวมถึงการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น

โดยบริษัทมีขาดทุนจากสต็อกน้ำมันสุทธิรวม 122 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรจากสต็อกน้ำมันสุทธิรวม 3,490 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ Accounting GIM มีจำนวน 15,828 ล้านบาท หรือ 9.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 12,391 ล้านบาท หรือ 44%

ขณะที่รายได้อื่น ๆ มีจำนวน 1,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการรับเงินค่าปรับจากการรับประกันผลงานก่อสร้างของโครงการ UHV ค่าใช้จ่ายดำเนินงานมีจำนวน 10,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 391 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทมี EBITDA อยู่ที่ 5,397 ล้านบาท ลดลง 70%

ทั้งนี้ บริษัทมีค่าเสื่อมราคา 6,324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 192 ล้านบาท ต้นทุนทางการเงินสุทธิ จำนวน 850 ล้านบาท ลดลง 559 ล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากการบันทึกกำไรจากการทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินต้นและดอกเบี้ย (Cross Currency Swap: CCS) จำนวน 571 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 370 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 288 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ขณะที่กำไรจากการลงทุนลดลง 272 ล้านบาท บริษัทมีเครดิตภาษีเงินได้ 334 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากผลการดำเนินงานที่ลดลง ส่งผลให้ในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวน 661 ล้านบาท ลดลง 107% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ณ วันที่ 30 ก.ย.62 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 177,920 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 93,005 ล้านบาท และ มีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 84,915 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ