THAI คาดศาลผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ Q1-Q2 ปี 64 พร้อมวางแนวทางผ่าตัดองค์กร

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 24, 2020 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า จากเมื่อวันที่ 14 ก.ย.63 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทฯฟื้นฟูกิจการ พร้อมคณะผู้ทำแผน โดยขณะนี้คณะผู้ทำแผนอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ภายในช่วงต้น ม.ค.64

หลังจากนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อให้เจ้าหนี้ได้พิจารณาแผนและลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ก่อนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรเสนอแผนที่ได้รับการเห็นชอบจากเจ้าหนี้ต่อศาลล้มละลายกลาง หากศาลพิจารณาและมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้บริหารแผน ซึ่งคาดว่ากระบวนการอนุมัติแผนจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ปี 64 จากนั้นบริษัทก็จะเริ่มดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามแผนที่ได้รับการเห็นชอบต่อไป

อนึ่ง คณะผู้ทำแผนได้แก่ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด , พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

แนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะทางการเงินของบริษัท

1. ลดค่าใช้จ่าย ในไตรมาส 3/63 บริษัทฯยังคงดำเนินการมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายบรรเทาผลกระทบจากสถานการ์ณโควิด-19 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนอย่างเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายบุคคลากรโดยยังคงลดเงินเดือน และค่าตอบแทนผุ้บริหารระดับสูงต่อเนื่อง และขอความร่วมือให้พนักงานร่วมโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน (โครงการ Together We Can)

นอกจากนี้ในเดือน ต.ค.63 ได่เปิดโครงการ"ร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร" 2 โครงการได้แก่ โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร แพกเกจ A (MSP A) และโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน (Leave without pay) ซึ่งทั้งสองโครงการจะมีผลในไตรมาส 4/63 เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทสามารถดำรงเงินสดในมือให้เพียงพอในการดำเนินกิจการระหว่างที่ไม่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจการบินปกติ และจากแหล่งเงินทุนอื่น ประกอบกับการชะลอการลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการ และความปลอกภัยและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

2.มุ่งหารายได้เพิ่มจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขนส่งผู้โดยสาร โดยการเจาะตลาดลูกค้าภาคพื้นให้มากขึ้นได้แก่ โครงการอร่อยล้นฟ้า โครงการ Thai Flying Experience & Beyond

สำหรับแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงาน บริษัทฯมีแนวทางหลักในการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้กลับมามีกำไรยั่งยืนอย่างน่าภาคภูมิใจอีกครั้ง โดยอาศัยการขับเคลื่อนเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 ด้านหลักคือ

1. Revenue Excellence ด้วยการสร้ารายได้ในทุกด้านทั้งรายได้จากการบินและนอกเหนือจากการบิน จะประกอบด้วยเครือข่ายเส้นทางบิน ฝูงบิน การพาณิชย์ โดยปรับขนาดฝูงบินให้เหมาะสม สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายเส้นทางบินที่ทำกำไรให้กับบริษัทฯรวมถึงเส้นทางบินที่มีการเชื่อมต่อไปยังจุดบินที่เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ หรือเส้นทางบินใหม่ที่มีศักยภาพ ปรับปรุงกระบวนการเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มรายได้ต่อหน่วยและส่วนแบ่งทางการตลาด ปรับปรุงการทำรายได้ผ่านช่องทางดิจิทัลในทุกขั้นตอนตลอดการเดินทางของลูกค้า รวมถึงการปฏิบัติการ และหน่วยธุรกิจ การสร้างโอกาสในการทำรายได้ที่นอกเหนือจากการบินและจากแนวคิดใหม่ๆ เช่นรายได้จากฝ่ายครัวการบิน การขนส่งสินค้า การบริการภาคพื้น การซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นต้น

2. Simpler, leaner and more cost efficient ด้วยการผลักดันทุกกระบวนการให้เกิดประสิทธิภาพจากการบริหารจัดการต้นทุน เพิ่มโอกาสในการปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการปฏิบัติการบิน เช่น เพิ่มประสิทธิภาพจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น เช่นการเช่าเครื่องบิน และเครื่องยนต์, การจัดซื้อที่มีประสทธิภาพ มีกระบวนการโปร่งใสและกระชับ, การบำรุงรักษาเครื่องบิน ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

3.World class ways of working ด้วยการปรับตัวให้เป็นองค์กรที่มีขนาดเล็กลงแต่เพิ่มทักษะขีดความสามารถ และทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยปรับลดขั้นตอนการทำงานให้รวดเร็วง่าย กระชับ โดยมีโครงสร้างองค์กรที่ต้องปรับปรุงไปพร้อมกับวัฒนธรรมองค์กร การเพิ่มความสามารถบุคคลากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของบริษัทฯ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การเดินทางลดลงทันที และคาดว่าจะดำรงอยู่เป็นเวลานาน การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จตามเป้าหมายต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ที่เพียงพอตามข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งในการพิจารณาแต่งตั้งผู้ทำแผน การพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน และการพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผน

รวมทั้งการสนับสนุนของรัฐบาลในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ โดยรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาฯ เพื่อติดตามและให้คำแนะนำในการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบินไทยสามารถดำเนินการตามแผนฟื่นฟูกิจการของบริษัทได้อย่างประสบความสำเร็จ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ