GULF เซ็น PPA โซลาร์ฟาร์ม 12 โครงการกับกฟผ.รวม 649.3 MW ทยอย COD ปี 67-68

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 18, 2023 09:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อลดอัตราค่าไฟฟ้าและมุ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งกลุ่ม บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้น

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 กลุ่มบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด ในสัดส่วน 100% ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลา 25 ปี เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) จำนวนรวม 12 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 649.31 เมกะวัตต์ และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ระหว่างปี 2567-2568

โครงการดังกล่าวประกอบด้วย

1. บริษัท แสงไทยพลังงาน จำกัด

2. บริษัท พลังงานรุ่งเรือง จำกัด

3. บริษัท สุริยาพัฒน์ จำกัด

4. บริษัท แสงพัฒน์ พลังงาน จำกัด

5. บริษัท ไทยพัฒน์ โซล่าร์ จำกัด

6. บริษัท สกาย เพาเวอร์ จำกัด

7. บริษัท อีสาน คลีน เทค จำกัด

8. บริษัท ราชา โซล่าร์ จำกัด

9. บริษัท บรีซแอนด์ไชน์ เพาเวอร์ จำกัด

10. บริษัท ดวงตะวันพลังงาน จำกัด

11. บริษัท เอ็นเนอร์ยี เฟิร์ส จำกัด

12. บริษัท พัฒนาโซลาร์ จำกัด

โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms)และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับ ระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) มีอัตราขายไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 2.1679 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และ 2.8331 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ตามลำดับ ตลอดอายุสัญญาซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ จะช่วยลดความผันผวนจากราคาเชื้อเพลิง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมให้ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ต่ำตลอดอายุสัญญา เนื่องจากโครงการฯ มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปัจจุบัน

การพัฒนาโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นไปตามแผนของบริษัทที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่า 40% ภายในปี 2578 โดยในอนาคตจะมีการทยอยลงนามสัญญาเพิ่มเติมสำหรับโครงการที่มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2569-2573


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ