(เพิ่มเติม) CIMBT เพิ่มทุน 2.97 พันล้านหุ้น ขายผถห.เดิมที่ 1 บ./ปรับโครงสร้างธนาคาร

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 26, 2010 11:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐาภพ คลี่สุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ครั้งที่ 5/53 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 25 มี.ค.53 มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียน 1,483,266,796 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 6,674,700,582 บาท เป็น 8,157,967,378 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 2,966,533,592 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

โดยให้จัดสรรหุ้นสามัญออกใหม่จำนวน 2,966,533,592 หุ้น โดยมีมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ 0.50 บาท/หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารตามสัดส่วนของการถือหุ้น ในอัตรา 2 หุ้นใหม่ ต่อ 9 หุ้นเดิมของหุ้นธนาคาร โดยเสนอขายในราคา 1 บาท/หุ้น

ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าการเพิ่มทุนจดทะเบียนของธนาคารและการเสนอขายหุ้นตามสิทธินี้จะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.53 หลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นและจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นของธนาคารทั้งหมดสามารถซื้อหุ้นตามสิทธิได้อย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ได้อนุมัติการปรับโครงสร้างธนาคาร โดยการปรับโครงสร้าง Bad Bank ในส่วนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยการเข้าการขายหุ้นบริษัท บริหารสินทรัพย์สาธร จำกัด (บบส.) ที่ธนาคารถืออยู่ทั้งหมดในจำนวน 24,999,993 หุ้น หรือคิดเป็น 99.99% ของทุนจดทะเบียนของบบส. ให้แก่ CIMB Group Sdn Bhd (CIMB Group) และ/หรือบริษัทย่อยที่ CIMB Group จะกำหนดเป็นผู้ซื้อ โดยธนาคารจะได้รับค่าขายหุ้นบบส. เป็นเงินสดจำนวน 229,149,954 บาท

ภายหลังจากการขายหุ้นบบส. เสร็จสิ้น ธนาคารจะขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ตามที่ได้กำหนดไว้ในportfolio ของธนาคาร ซึ่งหมายความถึงสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยสินทรัพย์ที่เป็นในส่วนของบรรษัทธุรกิจ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกันตามมูลค่าทางบัญชีสุทธิจำนวน 3,160,530,190.71 บาท ณ วันที่ 31 ธ.ค.52 ให้แก่บบส. โดยจะมีการชำระราคาเป็นเงินสดจำนวน 3,160,530,190.71 บาท

และจากการขาย NPLs ธนาคารจะเข้าทำสัญญาเงินกู้กับ บบส. โดยจะให้ บบส. กู้ยืมเงินจำนวนไม่เกิน 3 พันล้านบาท ซึ่งจะมีการค้ำประกันเต็มตามจำนวนโดย CIMB Group Holdings Berhad โดยเงินกู้ดังกล่าวจะใช้เป็นเงินทุนบางส่วนในการทำรายการซื้อ NPLs จากธนาคารซึ่งคิดเป็นประมาณ 24% ของเงินกองทุนของธนาคาร ณ วันที่ 31 ธ.ค.52

เมื่อธนาคารขายหุ้น บบส. เสร็จสิ้น ธนาคารจะไม่ถือหุ้นใน บบส. อีกต่อไป ซึ่งคาดว่าการทำรายการที่เป็นข้อเสนอการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ ภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติจากประชุมผู้ถือหุ้นและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

อนุมัติการขายเงินลงทุนใน บลจ.บีที ที่ธนาคารถือทั้งหมดในจำนวน 24,999,993 หุ้น หรือคิดเป็น 99.99% ของทุนจดทะเบียนให้แก่ บริษัท CIMB-Principal Asset Management Berhad (CPAM) โดยธนาคารจะได้รับค่าขายหุ้นบลจ. บีที เป็นเงินสดจำนวนทั้งสิ้น 249,999,930 บาท และในการขาย บลจ. บีที ธนาคารจะเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับ CPAM และเมื่อการขายหุ้นบลจ. บีที เสร็จสิ้น ธนาคารจะไม่ถือหุ้นในบลจ. บีที อีกต่อไป ซึ่งคาดว่าการขาย บลจ. บีที ดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในปีนี้

อนุมัติการขายหุ้นบริษัท เวิลด์คลาส เรนท์ อะ คาร์ จำกัด จำนวน 760,000 หุ้นหรือ คิดเป็น 20% ของทุนจดทะเบียนของ บจ. เวิลด์คลาส ให้แก่ธนาคาร CIMB Bank Berhad (CIMB Bank) ในราคารวมทั้งสิ้น 73,852,978.53 บาท (ราคาขายอาจเปลี่ยนแปลงจากนี้ หากมูลค่าตามบัญชีที่ได้จากงบการเงินฉบับตรวจสอบแตกต่างจากมูลค่าตามบัญชีที่แสดงในงบการเงินที่ธนาคารได้รับจากเวิลด์ คลาสซึ่งเป็นฉบับก่อนการตรวจสอบ)

ทั้งนี้ธนาคารได้แต่งตั้งให้ บล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระของธนาคาร เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการขายบบส. และการขาย NPLs และตั้ง บริษัท Advisory Plus จำกัด ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระของธนาคารเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการขายบลจ. บีที และตั้ง บริษัท เจดี พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำรายการ บจ. เวิลด์คลาสเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของผู้ถือหุ้นของธนาคาร

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ/หรือชั้นที่ 2 จำนวนไม่เกิน 6,000 ล้านบาท และให้นำเสนอเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไปในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 16 ในวันพฤหัสบดีที่ 29 เม.ย.53

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CIMBT กล่าวว่าการเข้าซื้อหุ้นใน 3 บริษัทของกลุ่มซีไอเอ็มบีในครั้งนี้ เพื่อให้ธนาคาร สามารถมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเติบโตในธุรกิจการเป็นธนาคารเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ โดยลดภาระด้านการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ และเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ของกลุ่มซีไอเอ็มบีในการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ และดึงความเชี่ยวชาญและทรัพยากรด้านการจัดการกองทุนของกลุ่มเข้าสู่ศูนย์กลาง บนพื้นฐานในระดับภูมิภาคต่อไป

ส่วนการเพิ่มทุนของธนาคาร 2.96 พันล้านหุ้นขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม คาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในครึ่งแรกของปี 53 นี้ และเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก เพราะผลประกอบการของธนาคารที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสถานะของธนาคารที่เข้มแข็งภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มซีไอเอ็มบี

"การเข้าซื้อหุ้นใน 3 บริษัทของกลุ่มซีไอเอ็มบีในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มซีไอเอ็มบีในการสร้างให้ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มีสถานะที่แข็งแกร่ง โดยให้ธนาคารมุ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ศักยภาพด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ของธนาคารจะได้รับการดึงเข้าสู่ศูนย์กลางให้อยู่ในระดับภูมิภาค แต่ธนาคารจะยังคงการเป็นจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยผ่านเครือข่ายของธนาคารต่อไป" นายสุภัค กล่าว

ด้านดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าวว่า การดำเนินการต่าง ๆ ของกลุ่มซีไอเอ็มบีในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ที่ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราในการสร้างความเติบโตให้แก่ธนาคารตลอดจนแสดงถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และย่อมเป็นที่แน่นอนว่าทางกลุ่มซีไอเอ็มบีพร้อมที่จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารในครั้งนี้ตามสิทธิที่มีอยู่อย่างเต็มที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ