ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: สถานการณ์อิหร่านหนุนน้ำมันดิบปิดบวก 29 เซนต์

ข่าวต่างประเทศ Friday December 30, 2011 06:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (29 ธ.ค.) เพราะได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อในช่วงท้าย อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่า อิหร่านอาจจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันที่สำคัญ หากอิหร่านถูกคว่ำบาตรในระดับที่รุนแรงขึ้น โดยแรงซื้อในช่วงท้ายช่วยหนุนสัญญาน้ำมัน NYMEX ดีดตัวขึ้น หลังจากที่ร่วงลงก่อนหน้านี้ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาดในรอบสัปดาห์ที่แล้ว

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.บวก 29 เซนต์ หรือ 0.29% ปิดที่ 99.65 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 99.92 - 98.30 ดอลลาร์

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 55 เซนต์ ปิดที่ 107.96 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในช่วงแรกนั้น สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจา EIA รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 23 ธ.ค. พุ่งขึ้น 3.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 327.5 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นพุ่งขึ้น 1.21 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 140.4 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่คาดว่าจะลดลง 400,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 692,000 บาร์เรล แตะระดับ 217.7 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันร่วงลง 0.7% แตะ 84.2%

อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นจากแรงซื้อที่ส่งเข้าหนุนในช่วงท้าย อันเนื่องมาจากการที่นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่า อิหร่านอาจจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่เรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่จะบรรทุกน้ำมันดิบจากอ่าวเปอร์เซียเพื่อนำไปส่งยังทั่วทุกมุมโลก หลังจากผู้นำอิหร่านขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ถ้าหากอุตสาหกรรมการส่งออกน้ำมันของอิหร่านถูกคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตก ซึ่งคำขู่ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากอิหร่านประกาศซ้อมรบในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของช่องแคบฮอร์มุซเป็นเวลา 10 วันโดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา

ด้านนายจอร์จ ลิตเติล โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ (เพนทากอน) ยืนยันว่า สหรัฐจะไม่ยอมปล่อยให้อิหร่านเข้าแทรกแซงเส้นทางเดินเรือผ่านช่องแคบฮอร์มุซอย่างเด็ดขาด เพราะช่องแคบฮอร์มุซไม่เพียงแต่มีความสำคัญในด้านความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเป็นท่อน้ำเลี้ยงทางเศรษฐกิจสำหรับหลายประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งรวมถึงอิหร่านเองด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ