ราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์พุ่งแตะ 88.68$ หลังเชลล์ระงับส่งน้ำมันในไนจีเรีย

ข่าวต่างประเทศ Friday February 8, 2008 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ (8 ก.พ.) หลังจากที่บริษัทน้ำมัน รอยัล ดัทช์ เชลล์ (Royal Dutch Shell) ประกาศว่า ทางบริษัทต้องระงับการส่งน้ำมันจากสถานีส่งน้ำมัน Nigerian Bonny ทางตอนใต้ของไนจีเรียเป็นเวลา 2 เดือน เนื่องจากท่อส่งน้ำมันได้รับความเสียหาย
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึง ทองคำ ทองคำขาว ถั่วเหลือง และข้าวสาลีที่พุ่งขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นไปด้วย
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบส่งมอบเดือนมี.ค. และได้มีการซื้อขายที่ตลาดสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 57 เซนต์สู่ระดับ 88.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากที่พุ่งขึ้น 97 ดอลลาร์ปิดที่ 88.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวานนี้
"กระแสข่าวเรื่องการระงับการส่งน้ำมันในไนจีเรียได้เข้ามาแทนที่ความวิตกกังวลของตลาดเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก" นิมิต คามาร์ นักวิเคราะห์จากซัคเด็นกล่าว
เชลล์ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่กล่าวเมื่อวานนี้ว่า บริษัทอาจจะไม่สามารถส่งน้ำมันจากสถานีส่งน้ำมัน Nigerian Bonny ทางตอนใต้ของไนจีเรีย ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ไปจนตลอดเดือนมี.ค. เนื่องจากท่อส่งน้ำมันได้รับความเสียหาย และยังไม่สามารถซ่อมแซมท่อส่งน้ำมันที่ Nembe Creek trunk line ซึ่งเกิดรอยรั่ว 3 จุด ซึ่งมีอันตรายมาก
ทั้งนี้ เชลล์ไม่ได้ระบุมูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่แหล่งข่าวในวงการคาดการณ์ว่า เชลล์น่าจะสูญเสียน้ำมันดิบไปหลายพันบาร์เรล
เชลล์ เป็นบริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในไนจีเรีย โดยผลิตน้ำมันได้กว่าครึ่งจากปริมาณน้ำมันสูงสุดในประเทศที่ 2.6 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ส่งผลให้ผลผลิตน้ำมันลดลงกว่า 1 ใน 4 ตั้งแต่เดือนม.ค.2549
เท็ตสึ อิโมริ ผู้จัดการกองทุนจากแอสท์แม็กซ์ในโตเกียวกล่าวว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึง ทองคำ ทองคำขาว ถั่วเหลือง และข้าวสาลีที่พุ่งขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นไปด้วย
"เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ไม่ใช่เพราะน้ำมันเองอย่างเดียว" เขากล่าว
อิโมริกล่าวว่า ความต้องการน้ำมันจากบรรดาประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องอาจเป็นปัจจัยที่สามารถชดเชยอัตราการใช้พลังงานในสหรัฐที่ลดลง หากเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ