โรเบิร์ต ซิกเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า ความต้องการข้าวทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะบีบให้ประชากรที่ยากจนต้องรับประทานข้าวมากกว่าเนื้อสัตว์ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวแพงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของประชากรกว่า 3 พันล้านคน พุ่งขึ้น 29% เมื่อปีที่แล้ว โดยเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ราคาทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 25.07 ดอลลาร์/100 ปอนด์ หลังจากรัฐบาลเวียดนาม อินเดีย และอียิปต์ ประกาศควบคุมการส่งออกข้าวเพื่อปกป้องสต็อกข้าวและสกัดกั้นการพุ่งขึ้นของราคาข้าวภายในประเทศ
ด้านนายเกียรติศักดิ์ กัลยาศิริวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไอ.ซี.ซี. เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) แสดงความเห็นว่า "เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย กลุ่มผู้ซื้อก็ต้องประหยัดมากขึ้น ด้วยการหันไปซื้อข้าวบริโภคกันมากขึ้นเพราะมีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์"
ทั้งนี้ ซิกเลอร์กล่าวว่า "ภาวะสินเชื่อตึงตัวกำลังส่งผลให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราการเก็บเกี่ยวทั่วโลกลดน้อยลงและทำให้วิกฤตการณ์อาหารในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา รุนแรงขึ้นด้วย ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 เพราะเกษตรกรลงทุนน้อยลง นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ด้านการเงินที่กำลังลุกลามไปทั่วโลกในขณะนี้จะยิ่งทำให้การลงทุนของเกษตรกรย่ำแย่ลงอีก และจะยิ่งทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
อับดอลเรซา อับบาสเซียน เลขาธิการองค์การ Intergovernmental Group on Grains ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า "จำนวนประชากรที่หิวโหยทั่วโลกกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น เพราะภาวะติดขัดด้านการกู้ยืมทำให้การลงทุนด้านการเกษตรลดน้อยลง หากราคาปุ๋ยยังคงแพงขึ้นและกลุ่มผู้นำเข้าไม่ได้รับเครดิตในการซื้อสินค้า ก็จะส่งผลกระทบต่อการผลิตในทันที หากเกษตรกรเข้าถึงเงินกู้ได้ยาก ก็จะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างแน่นอน"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประกาศลดภาษีส่งออกข้าวลงสู่ระดับ 0% ขณะที่ยอดส่งออกข้าวของอินโดนีเซียอาจมีอยู่ถึง 2 ล้านตันในปีพ.ศ.2552 หลังจากเกษตรเพาะปลูกข้าวมากขึ้น