ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันศุกร์ (16 พ.ค.) และปิดบวกต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 หลังจากข้อตกลงการค้าชั่วคราวของสหรัฐฯ-จีนได้ช่วยลดความกังวลเรื่องภาษีนำเข้า นอกจากนี้ ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนช่วยหนุนตลาดด้วย
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 549.26 จุด เพิ่มขึ้น 2.31 จุด หรือ +0.42%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,886.69 จุด เพิ่มขึ้น 33.22 จุด หรือ +0.42%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 23,767.43 จุด เพิ่มขึ้น 71.84 จุด หรือ +0.30% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,684.56 จุด เพิ่มขึ้น 50.81 จุด หรือ +0.59%
ผลประกอบการของบริษัทในยุโรปยังคงแข็งแกร่ง โดยข้อมูลจากแอลเอสอีจี (LSEG) แสดงให้เห็นว่ากำไรไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนในยุโรปดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
หุ้นริชมอนด์ (Richemont) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์คาร์เทียร์ (Cartier) พุ่งขึ้นเกือบ 7% หลังรายงานว่ายอดขายรายไตรมาสเพิ่มขึ้น 7% สูงกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย ซึ่งช่วยหนุนดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน เพิ่มขึ้น 1.2% และดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าหรูหรา พุ่งขึ้น 2.2%
หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์เป็นกลุ่มที่หนุนตลาดมากที่สุดในวันศุกร์ โดยปรับตัวขึ้น 1.2% นำโดยหุ้นแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และหุ้นโนวาร์ทิส (Novartis) แต่หุ้นโนโว นอร์ดิสค์ (Novo Nordisk) ร่วง 1.8% หลังบริษัทสั่งปลดซีอีโอ ลาร์ส ฟรูเออร์การ์ด ยอร์เกนเซน ท่ามกลางความกังวลว่าบริษัทอาจสูญเสียความเป็นผู้นำในตลาดยารักษาโรคอ้วน
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวลงนั้น ได้จำกัดการปรับขึ้นของดัชนี STOXX 600
ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ดัชนี STOXX 600 เพิ่มขึ้นราว 2% โดยได้แรงหนุนจากข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ตกลงลดภาษีสินค้าระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน
นอกจากนี้ การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของสหราชอาณาจักร บรรลุข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกันได้นั้น ได้เปิดทางให้มีการเจรจาข้อตกลงกับสหภาพยุโรปในลำดับถัดไป
บรรดานักลงทุนในยุโรปกำลังจับตาพัฒนาการของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนอย่างใกล้ชิด หลังจากทั้งสองประเทศได้มีการเจรจาโดยตรงครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี แม้ว่ายังไม่มีข้อตกลงหยุดยิงเกิดขึ้น
ด้านข้อมูลเศรษฐกิจนั้น อัตราว่างงานของฝรั่งเศสในไตรมาสแรกอยู่ที่ 7.1%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคที่สอดคล้องกับอียูของอิตาลีเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบรายปีในเดือนเม.ย. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 2.1%
มาร์ตินส์ คาซักส์ ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่ความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในสถานการณ์เศรษฐกิจอาจทำให้แนวโน้มนโยบายเปลี่ยนแปลงได้