ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันจันทร์ (30 มิ.ย.) และปิดลบในเดือนมิ.ย. ขณะที่นักลงทุนติดตามความคืบหน้าของการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเส้นตายการจัดเก็บภาษีในวันที่ 9 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 541.37 จุด ลดลง 2.26 จุด หรือ -0.42%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,665.91 จุด ลดลง 25.64 จุด หรือ -0.33%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 23,909.61 จุด ลดลง 123.61 จุด หรือ -0.51% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,760.96 จุด ลดลง 37.95 จุด หรือ -0.43%
ดัชนี STOXX 600 ลดลงมากกว่า 1% ในเดือนมิ.ย. ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงเช่นกันจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น
แม้ว่าดัชนี STOXX 600 ติดลบในเดือนมิ.ย. แต่ยังคงปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 โดยดีดตัวแรงจากจุดต่ำสุดในเดือน เม.ย. ซึ่งเกิดจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการภาษีตอบโต้ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน
ดัชนี STOXX 600 ปรับตัวขึ้นมากกว่า 7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 เมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 5%
หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ขนาดใหญ่เป็นกลุ่มที่กดดันดัชนีมากที่สุด ขณะที่กลุ่มเหมืองแร่ก็ปรับตัวลง 1.1%
หุ้นไบเออร์ (Bayer) ของเยอรมนีร่วงลง 5.3% หลังศาลสูงของสหรัฐฯ ขอให้รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์แสดงความเห็นในกรณีที่บริษัทพยายามจำกัดการฟ้องร้องเกี่ยวกับสารกำจัดวัชพืช Roundup ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และอาจหลีกเลี่ยงความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
หุ้นกลุ่มธนาคารลดลง 0.3% นำโดยหุ้นธนาคารดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) ของเยอรมนีร่วงลง 3.2%
ในความเคลื่อนไหวล่าสุดด้านการค้าโลก แคนาดายกเลิกภาษีบริการดิจิทัลที่ตั้งเป้าไปที่บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ขณะที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่าข้อตกลงการค้าที่ลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ สำหรับรถยนต์และชิ้นส่วนเครื่องบินของสหราชอาณาจักรมีผลบังคับใช้แล้ว
ความสนใจของตลาดมุ่งไปที่เส้นตายวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งประเทศต่าง ๆ จะต้องบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) คาดว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะขยายเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. ออกไป โดยอ้างว่ามีความคืบหน้าในบางส่วนของข้อตกลงการค้า และให้เวลาเพิ่มเติมสำหรับการเจรจาแบบทวิภาคี
ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ การประเมินเบื้องต้นพบว่าอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีชะลอตัวลงในเดือน มิ.ย. ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคที่สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (HICP) ของอิตาลีเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า