ดาวโจนส์ร่วงวันที่ 2 ราคาน้ำมัน,ตัวเลข CPI กดดันตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 19, 2016 21:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงเป็นวันที่ 2 ในวันนี้ นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงาน จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง

นอกจากนี้ การเปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI พื้นฐานของสหรัฐที่พุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 4 ปีครึ่ง ก็เป็นปัจจัยกดดันตลาด เนื่องจากจะหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ณ เวลา 21.36 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 16,331.90 จุด ลดลง 81.53 จุด หรือ 0.50%

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 2% ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว

ณ เวลา 19.18 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 63 เซนต์ หรือ 2.05% สู่ระดับ 30.14 ดอลลาร์/บาร์เรล

EIA เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 504.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล

สำหรับสต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมัน เพิ่มขึ้น 36,000 บาร์เรล สู่ระดับ 64.7 ล้านบาร์เรล

ด้านสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3.0 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 258.7 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 2 แสนบาร์เรล

ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 162.4 ล้านบาร์เรล เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล

สำหรับอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันพุ่งขึ้น 2.2% สู่ระดับ 88.3% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.3%

ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างมากก่อนหน้านี้ จากการคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถร่วมมือกันผลักดันให้ราคาดีดตัวขึ้น ขณะที่รัฐมนตรีน้ำมันของอิหร่านประกาศว่าจะสนับสนุนความพยายามในการสร้างเสถียรภาพต่อราคาน้ำมัน ซึ่งรวมถึงการให้ความร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทรงตัวในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน เนื่องจากการดีดตัวขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการเคหะ และเวชภัณฑ์ ได้ถูกชดเชยโดยราคาน้ำมันที่ร่วงลง

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 1.4% ในเดือนม.ค.

อย่างไรก็ดี หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 4 ปีครึ่ง หรือตั้งแต่เดือนส.ค.2011 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนธ.ค.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2012

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบรายปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ