ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดลบ 31.50 จุด เหตุผิดหวังตัวเลขจ้างงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday June 4, 2016 06:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) หลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานเดือนพ.ค.ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้มาก ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ อย่างไรก็ดี ดัชนีกระเตื้องขึ้นจากที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงแรก เนื่องจากนักลงทุนมองว่าตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแออาจทำให้เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปจากที่คาดการณ์กันไว้ในเดือนมิ.ย.

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 17,807.06 จุด ลดลง 31.50 จุด หรือ -0.18% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,099.13 จุด ลดลง 6.13 จุด หรือ -0.29% และดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,942.52 จุด ลดลง 28.84 จุด หรือ -0.58%

สำหรับตลอดสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.4% ดัชนี S&P แทบจะทรงตัว ขณะที่ Nasdaq เพิ่มขึ้น 0.2%

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 38,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2553 ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง 0.3% สู่ระดับ 4.7% หลังจากอยู่ที่ 5.0% ในเดือนเม.ย.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 162,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.9%

รายงานตัวเลขจ้างงานล่าสุดนี้ทำให้กระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้นั้นอ่อนแรงลง และนักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.นี้ตามที่มีการคาดการณ์กันไว้

CME Group FedWatch ระบุว่า นักลงทุนได้ลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนต่างๆลง หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่ดิ่งลงอย่างมากในวันนี้

นักลงทุนลดความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.สู่ระดับ 4% จากเดิมที่ 21%, ส่วนเดือนก.ค.ปรับลดลงสู่ 38% จากระดับ 58%, เดือนก.ย. 49% จาก 66%, เดือนพ.ย. 52% จาก 68% และเดือนธ.ค. 68% จาก 79%

หุ้นบริษัทประกันและธนาคารปรับตัวลดลง เนื่องจากแนวโน้มผลกำไรที่อาจลดลง หากไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ดอลลาร์ที่อ่อนค่าภายหลังเปิดเผยตัวเลขจ้างงานได้หนุนให้หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและวัตถุดิบปรับตัวขึ้น

หุ้นกลุ่มการเงินถูกเทขาย เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังก่อนหน้านี้ว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินจะหนุนให้ผลประกอบการของแบงก์และบริษัทประกันปรับตัวขึ้น

หุ้นโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป ร่วง 2.27% เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ลบ 1.78%

อย่างไรก็ดี แรงเทขายหุ้นกลุ่มการเงินได้รับการชดเชยจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบ รวมถึงหุ้นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการดำเนินงานในต่างประเทศ เนื่องจากความหวังที่ว่าดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะทำให้กำไรในต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคที่ได้อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็ดีดตัวขึ้นเช่นกัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ดูเผินๆแล้ว รายงานตัวเลขจ้างงานจะออกมาน่าผิดหวังมาก แต่ก็มีผู้ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เช่น ผู้ที่ได้ประโยชน์จากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงมาก

ทั้งนี้ ตลาดต่างจับตานางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 6 มิ.ย. ซึ่งจะแสดงมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ และนโยบายอัตราดอกเบี้ย

การกล่าวถ้อยแถลงของนางเยลเลนในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากจะเป็นการแสดงความเห็นของประธานเฟดเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานสหรัฐที่ต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี

นักลงทุนจับตาคำกล่าวของนางเยลเลนเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในปีนี้ หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว

นอกจากตัวเลขจ้างงานแล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือนในเดือนเม.ย. โดยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว หลังจากเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนมี.ค.

การเพิ่มขึ้นของยอดสั่งซื้อภาคโรงงานสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ในภาคการขนส่ง

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานด้วยว่า ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.3% ในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 3.74 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.13 หมื่นล้านดอลลาร์

ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนเม.ย. เนื่องจากการส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

เมื่อมีการปรับค่าตามเงินเฟ้อ ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 5.76 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 5.61 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค.

ตัวเลขการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 2.5% สู่ระดับ 1.201 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ขณะที่ตัวเลขการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 1.5% สู่ระดับ 1.828 แสนล้านดอลลาร์

ตัวเลขการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 2.4% สู่ระดับ 1.789 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย.

ด้านผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัวต่ำกว่าคาดในเดือนพ.ค. โดยดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 52.9 ในเดือนพ.ค. ลดลงจากระดับ 55.7 ในเดือนเม.ย.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 55.5 ในเดือนพ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ