ดาวโจนส์ร่วงกว่า 100 จุด กังวลแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ,ราคาน้ำมันทรุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 13, 2016 20:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงกว่า 100 จุดในวันนี้ โดยปรับตัวลงเป็นวันที่ 4 ในรอบ 5 วันทำการ จากความกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ และการทรุดตัวของราคาน้ำมัน

ณ เวลา 20.35 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJIA) อยู่ที่ 18,182.42 จุด ลดลง 147.86 จุด หรือ 0.83%

หุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงนำตลาดวันนี้ ตามราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลง

หุ้นแอปเปิลเป็นเพียงหุ้นตัวเดียวใน 30 ตัวที่ใช้คำนวณดัชนี DJIA ที่ปรับตัวขึ้นในวันนี้

เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่สามารถออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐตั้งแต่วันนี้ ก่อนถึงการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 20-21 ก.ย. ตามกฎการห้ามแสดงความคิดเห็นก่อนการประชุมเฟดเป็นเวลา 1 สัปดาห์

นางลาเอล เบรนนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ FOMC ซึ่งมีสิทธิลงคะแนนในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า กล่าววานนี้ว่า เฟดควรดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีการฟื้นตัว นางเบรนนาร์ดแนะนำให้เฟดใช้ความระมัดระวังมิให้ปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ขณะที่ยังคงมีความวิตกต่อผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐ ความเห็นของนางเบรนนาร์ดสวนทางเจ้าหน้าที่เฟดรายอื่นๆที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 2% ในวันนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันโลกอยู่ในอัตราต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ณ เวลา 19.19 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนต.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 1.06 ดอลลาร์ หรือ 2.29% สู่ระดับ 45.23 ดอลลาร์/บาร์เรล IEA ระบุในวันนี้ว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันโลกอยู่ในอัตราต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และตลาดจะใช้เวลามากขึ้นในการปรับตัวสู่ระดับสมดุล IEA คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ โดยปรับลดลง 100,000 บาร์เรล/วัน จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวในไตรมาส 3 นอกจากนี้ IEA ยังคาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันจะลดลงต่อไปสู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า เนื่องจากยังคงมีความไม่แน่นอนต่อภาวะเศรษฐกิจมหภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ