ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดบวก 37.87 จุด รับผลประกอบการ,ตัวเลขดุลการค้าสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 8, 2017 06:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (7 ก.พ.) โดยตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) และตัวเลขขาดดุลการค้าเดือนธ.ค.ของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงมากกว่าการคาดการณ์ ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน เนื่องจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงด้วย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,090.29 จุด เพิ่มขึ้น 37.87 จุด หรือ +0.19% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,674.22 จุด เพิ่มขึ้น 10.67 จุด หรือ +0.19% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,293.08 จุด เพิ่มขึ้น 0.52 จุด หรือ +0.02%

ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดย GM บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เปิดเผยกำไรและรายได้พุ่งขึ้นเกินคาดในไตรมาส 4 ขณะที่ยอดขายรถยนต์ทะยานขึ้นในสหรัฐ และจีน

ทั้งนี้ GM เปิดเผยว่า มีกำไร 1.28 ดอลลาร์/หุ้นในไตรมาส 4 เมื่อเทียบกับ 1.17 ดอลลาร์/หุ้นที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ GM ยังเปิดเผยว่ามีรายได้รวม 4.391 หมื่นล้านดอลลาร์ เทียบกับ 4.153 หมื่นล้านดอลลาร์ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ในช่วงแรกนั้น หุ้น GM ดีดตัวขึ้นขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ก่อนที่จะปิดตลาดปรับตัวลง 4.70% เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่านโยบายการปรับขึ้นภาษีสินค้าที่ส่งข้ามชายแดนของสหรัฐนั้น อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ GM ในวันข้างหน้า

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดีดตัวขึ้น ซึ่งช่วยหนุนดัชนี NASDAQ ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยหุ้นแอปเปิล อิงค์ และหุ้นอินเตอร์เนชันแนล บิสิเนส แมชีนส์ (IBM) ต่างก็ปรับตัวขึ้นกว่า 0.4%

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐซึ่งระบุว่า สหรัฐมีตัวเลขขาดดุลการค้าลดลง 3.2% ในเดือนธ.ค. สู่ระดับ 4.43 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าสหรัฐจะมีตัวเลขขาดดุลการค้าลดลงสู่ระดับ 4.50 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค.

รายงานของกระทรวงยังระบุด้วยว่า สหรัฐส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 2.7% สู่ระดับ 1.907 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2015 ขณะที่นำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 1.5% สู่ระดับ 2.350 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2015

อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับปัจจัยลบจากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ร่วงลงกว่า 1.5% ซึ่งได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงด้วย โดยหุ้นเชฟรอนปรับตัวลง 1.4% หุ้นนิวฟิลด์ เอ็กซ์พลอเรชัน ร่วงลง 4.2% และหุ้นเมอร์ฟีย์ ออยล์ ดิ่งลง 3.9%

หุ้นไมเคิล คอร์ ผู้ผลิตกระเป๋าชื่อดังของสหรัฐ ดิ่งลง 10.80% หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายในช่วงเทศกาลวันหยุดที่น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ เนื่องจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน หลังจากนายแพทริค ฮาร์เกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย และเป็นกรรมการเฟดที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในปีนี้ กล่าวว่า เฟดควรพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนหน้า หากว่าการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานยังคงมีการขยายตัวต่อไป โดยเฟดจะประชุมกำหนดนโยบายการเงินครั้งต่อไปในวันที่ 14-15 มี.ค. นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธ.ค., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนม.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ