ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดบวกเพียง 20.88 จุด ขณะหุ้นเทคโนฯร่วงฉุด Nasdaq ปิดลบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 7, 2018 06:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (6 ก.ย.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ซบเซา เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า ขณะที่ดัชนี Nasdaq และ S&P 500 ปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 หลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มพลังงานร่วงลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ในวันนี้ เพื่อเป็นปัจจัยบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,995.87 จุด เพิ่มขึ้น 20.88 จุด หรือ +0.08% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,878.05 จุด ลดลง 10.55 จุด หรือ -0.37% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,922.73 จุด ลดลง 72.45 จุด หรือ -0.91%

ดัชนี Nasdaq ปิดร่วงลงตามทิศทางหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นบริษัทเทคโนโลยีในกลุ่ม FAANG ((เฟซบุ๊ก แอปเปิล อเมซอน เน็ตฟลิกซ์ และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล) โดยหุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 2.8% หุ้นแอปเปิล ลดลง 1.7% หุ้นอเมซอน รี่วงลง 1.8% และหุ้นอัลฟาเบท ปรับตัวลง 1.7% หุ้นทวิตเตอร์ ดิ่งลง 5.9% หุ้นสแนป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสแนปแชท ร่วงลง 3% หุ้นไมโครอน เทคโนโลยีส์ ดิ่งลง 9.9% หุ้นอินเทล ปรับตัวลง 1%

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์เคนนี แอนด์ โค กล่าวว่า หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงเนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการชิปคอมพิวเตอร์ รวมทั้งความวิตกกังวลที่ว่า รัฐบาลสหรัฐอาจเพิ่มมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้นต่อบริษัทโซเชียลมีเดีย หลังจากผู้บริหารของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐเกี่ยวกับการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อในช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว โดยการเข้าชี้แจงครั้งนี้ ผู้บริหารเฟซบุ๊กได้ยอมรับในความบกพร่องของการดำเนินการที่ช้าเกินไปและไม่ทันท่วงที

หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงติดต่อกันสองวันทำการเมื่อคืนนี้ โดยล่าสุดราคาได้ร่วงหลุดจากระดับ 68 ดอลลาร์/บาร์เรล ทั้งนี้ หุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 1.1% หุ้นเชฟรอน ดิ่งลง 3.1% หุ้นอ็อคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม ร่วงลง 2% หุ้นมาราธอน ออยล์ ร่วงลง 4% และหุ้นเชซาพีค เอนเนอร์จี ดิ่งลง 5.8% ส่วนหุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ลดลง 0.7% หลังจากบริษัทคาดการณ์ว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 อาจชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการขุดเจาะน้ำมันในแหล่งเพอร์เมียน เบซิน

หุ้นบาร์นส์ แอนด์ โนเบิล ร่วงลง 8.1% หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายและกำไรสุทธิที่ร่วงลงอย่างหนักในไตรมาสแรกของปีงบการเงินของบริษัท

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยรัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณเตือนว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ทันที หากสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขู่ไว้ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายในขณะที่รอผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและแคนาดา โดยตัวแทนเจรจาการค้าของทั้งสองฝ่ายได้เปิดฉากการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่อีกครั้งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ขณะที่ปธน.ทรัมป์เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและแคนาดา จะทราบผลในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีผลต่อภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 163,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 0.8% ในเดือนก.ค. มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.6% ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 58.5 ในเดือนส.ค. โดยอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 56.8 จากระดับ 55.7 ในเดือนก.ค.

นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่ผลการสำรวจของนักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 191,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานเดือนส.ค.จะลดลงสู่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี จากระดับ 3.9% ในเดือนก.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ