(REPEAT) ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวกบาง 18.38 จุด ขณะพุ่งแข็งแกร่งในรอบไตรมาส

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 1, 2018 06:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (28 ก.ย.) เช่นเดียวกับ Nasdaq ที่บวกเล็กน้อย ส่วน S&P 500 ปิดทรงตัว ขณะที่นักลงทุนจับตาสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมทั้งติดตามสถานการณ์การเมืองในอิตาลี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,458.31 จุด เพิ่มขึ้น 18.38 จุด หรือ +0.07% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,913.98 จุด ลดลง 0.02 จุด หรือ -0.00% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,046.35 จุด เพิ่มขึ้น 4.38 จุด หรือ +0.05%

ขณะที่ตลอดเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ดาวโจนส์บวก 1.9%, S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.4% ส่วน Nasdaq ลดลง 0.8%

สำหรับทั้งไตรมาส ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 9.3%, S&P เพิ่มขึ้น 7.2% ดีที่สุดในรอบห้าปี และ Nasdaq บวก 7.1% โดยได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน และความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ

ส่วนในการซื้อขายวันศุกร์นั้น หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวลดลง ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้น

ทั้งนี้ นักลงทุนกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยหวั่นว่าสงครามการค้าจะลุกลามบานปลาย หลังจากล่าสุดสหรัฐกล่าวหาว่าจีนพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐที่จะจัดขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งจีนก็ได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐยุติการใช้ถ้อยคำและการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนทั้งสองประเทศ

นายเกิง ฉวง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ร้องขอในเรื่องดังกล่าวระหว่างการแถลงข่าวรายวัน ภายหลังจากที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่สหรัฐได้กล่าวหาจีนว่า พยายามที่จะแทรกแซงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ

นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาสถานการณ์ด้านงบประมาณของอิตาลีอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดมีรายงานว่า รัฐบาลอิตาลีภายใต้การนำของพรรคไฟว์ สตาร์ และพรรคเดอะ ลีก เห็นพ้องให้มีการกำหนดเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณในปีหน้าไว้ที่ 2.4% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลชุดก่อนถึง 3 เท่า และคาดว่าจะทำให้สหภาพยุโรป (EU) แสดงความไม่เห็นด้วย

รัฐบาลอิตาลีได้ขยายเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณในปี 2562 เพื่อหนุนนโยบายจากแคมเปญการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับ EU

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยวานนี้ ได้แก่ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 100.1 ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบกับตัวเลขเบื้องต้นที่ 100.8 หลังจากแตะระดับ 96.2 ในเดือนส.ค.

ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีมุมมองเชิงบวกต่อรายได้และการจ้างงานในอนาคต

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หลังจากที่ขยายตัว 0.4% ในเดือนก.ค.

ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งเข้ามาชดเชยยอดซื้อรถยนต์ที่ปรับตัวลดลง

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานเดือนส.ค. ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค.

ในส่วนของข่าวคราวความเคลื่อนไหวภาคธุรกิจ หุ้นเทสลา ดิ่งลงเกือบ 14% หลังจากที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ได้ยื่นฟ้องนายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทสลา จากกรณีที่นายมัสก์ได้ทวีตข้อความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการนำเทสลาออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด

ทั้งนี้ นายมัสก์ได้ทวีตข้อความในวันที่ 7 ส.ค.ว่า เขามีแผนที่จะนำบริษัทเทสลาออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด โดยเขามีแหล่งเงินทุนที่จะเข้าซื้อหุ้นที่ระดับราคา 420 ดอลลาร์ ซึ่งข่าวนี้ส่งผลให้ราคาหุ้นเทสลาพุ่งขึ้นแตะ 387.46 ดอลลาร์ในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

หุ้นเฟซบุ๊กลดลงเกือบ 2% หลังบริษัทเผยว่า ปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนตัวนั้นได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานราว 50 ล้านคน

หุ้นอินเทลพุ่ง 3.1% หลังซีอีโอรักษาการเผยว่า บริษัทน่าจะสามารถทำรายได้ทั้งปีได้ตามที่คาดการณ์

หุ้นโบอิ้งบวก 1.23% หลังจากบริษัทคว้าสัญญาสร้างเครื่องบินฝึกให้กับกองทัพอากาศสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ