ดาวโจนส์ร่วงไม่หยุด ล่าสุดวูบกว่า 250 จุด หลุด 25,000 จุด ปัจจัยลบรุมทุบตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 8, 2019 23:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดดิ่งลงมากกว่า 250 จุด หลุดระดับ 25,000 จุด ขณะที่นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ซบเซา โดยคาดว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะลดลงมากกว่า 1% ในไตรมาสแรก ซึ่งจะเป็นการปรับตัวลงของผลกำไรรายไตรมาสเทียบรายปีเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บางรายในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้

ณ เวลา 23.10 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 24,910.05 จุด ลดลง 259.48 จุด หรือ 1.03%

นายปีเตอร์ ออพเพนไฮเมอร์ นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า นักลงทุนที่เคยคาดหวังว่าตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำในปีนี้ คงต้องกลับไปคิดใหม่

นายออพเพนไฮเมอร์กล่าวว่า ตลาดหุ้นปรับตัวซบเซาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในเดือนธ.ค.นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาครั้งใหญ่

แต่หลังจากนั้น ตลาดหุ้นสามารถดีดตัวขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นมากกว่า 7% และตลาดหุ้นยุโรปทะยานขึ้นมากกว่า 6%

อย่างไรก็ดี นายออพเพนไฮเมอร์เตือนว่า เมื่อมองจากปัจจัยพื้นฐานพบว่า การขยายตัวของผลกำไรจะอ่อนแอในปีนี้ในทุกภูมิภาคของโลก ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ตลาดจะให้ผลตอบแทนต่ำ ขณะที่มีการปรับตัวในช่วงแคบๆ

คำกล่าวของนายออพเพนไฮเมอร์มีขึ้น ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า ในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้บันทึกรายละเอียดของการเจรจาเป็นลายลักษณ์อักษร แม้ว่าใกล้ถึงวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งเป็นเส้นตายที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดไว้สำหรับการบรรลุข้อตกลงทางการค้า

วอลล์สตรีท เจอร์นัลยังเปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ร่างข้อตกลงที่ระบุถึงประเด็นที่พวกเขาเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า เขาไม่มีแผนที่จะพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก่อนวันที่ 1 มี.ค.

ในการประชุมสุดยอดระหว่างปธน.ทรัมป์ และปธน.สี จิ้นผิง ที่ประเทศอาร์เจนตินาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2561 ผู้นำสหรัฐและจีนได้ตกลงที่จะยุติสงครามการค้าชั่วคราว โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน ขณะเดียวกันก็จะพยายามเจรจาเพื่อนำไปสู่การยุติสงครามการค้า

ทั้งนี้ หากทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าก่อนวันที่ 1 มี.ค. ปธน.ทรัมป์ก็จะเดินหน้าเพิ่มการเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากเดิม 10% ในขณะนี้

คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของยูโรโซนในปีนี้ และปีหน้า จากการคาดการณ์ที่ว่าประเทศขนาดใหญ่ในยูโรโซนจะมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศ และหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ EC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะมีการขยายตัว 1.3% ในปีนี้ ลดลงจากระดับ 1.9% ในปีที่แล้ว และคาดว่าจะดีดตัวสู่ระดับ 1.6% ในปีหน้า

ก่อนหน้านี้ EC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะมีการขยายตัว 1.9% ในปีนี้ และ 1.7% ในปีหน้า

นอกจากนี้ EC ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของ EU ซึ่งไม่รวมสหราชอาณาจักร จะมีการขยายตัว 1.5% ในปีนี้ ลดลงจากระดับ 2.1% ในปีที่แล้ว และคาดว่าจะดีดตัวสู่ระดับ 1.8% ในปีหน้า

EC คาดว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีจะมีการขยายตัว 1.1% ในปีนี้ ลดลงจากระดับ 1.5% ในปีที่แล้ว

EC ยังคาดว่าเศรษฐกิจของฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และเนเธอร์แลนด์จะชะลอตัวลงเช่นกัน โดยอิตาลีชะลอตัวมากที่สุดสู่ระดับ 0.2% ในปีนี้

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในปีนี้ สู่ระดับ 1.2% จากเดิมที่ระดับ 1.7% โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวต่อไปในปีนี้ สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัย Brexit และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

"การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ชะลอลงในช่วงปลายปีที่แล้ว และได้อ่อนตัวต่อไปในช่วงต้นปีนี้" BoE ระบุ

ขณะเดียวกัน BoE ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในปีหน้า สู่ระดับ 1.5% จากเดิมที่ระดับ 1.7% ก่อนที่จะดีดตัวสู่ระดับ 1.9% ในปี 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ