ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดิ่งลงเกือบ 600 จุดในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปรับตัวลงในคืนนี้ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก
นอกจากนี้ คาดว่าการทรุดตัวของราคาน้ำมันจะเป็นปัจจัยกดดันหุ้นกลุ่มพลังงานในวันนี้
ณ เวลา 18.46 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 592 จุด หรือ 2.27% สู่ระดับ 25,468 จุด
องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดระบุว่า ณ วันพฤหัสบดีที่ 5 มี.ค. จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 2,241 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 95,333 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3,280 ราย
WHO ระบุว่า ภายในเวลา 24 ชั่วโมง มี 5 ประเทศรายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งแรก
สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ทรุดหนักในวันนี้ ล่าสุดดิ่งลงกว่า 4% หลุดระดับ 44 ดอลลาร์ หลังรัสเซียยืนยันไม่สนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่ต้องการให้มีการปรับลดกำลังการผลิตอีก 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน
ทั้งนี้ กลุ่มโอเปก ซึ่งมีสมาชิก 14 ประเทศ ได้เสร็จสิ้นการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อวานนี้ ก่อนที่จะประชุมร่วมกับอีก 10 ประเทศพันธมิตร นำโดยรัสเซีย ในวันนี้
อย่างไรก็ดี คาดว่าการประชุมของโอเปกและชาติพันธมิตรจะประสบความล้มเหลวในวันนี้ ขณะที่รัสเซียยังคงมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของโอเปกที่ต้องการให้มีการปรับลดกำลังการผลิตอีก 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน
แหล่งข่าวระดับสูงภายในรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียจะไม่สนับสนุนข้อเสนอของโอเปก โดยรัสเซียยังคงมีจุดยืนเดิมที่ต้องการให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันปรับลดกำลังการผลิตตามโควตาเดิมในขณะนี้ต่อไปจนถึงสิ้นสุดไตรมาส 2
โอเปกมีมติวานนี้ในการลดกำลังการผลิตอีก 1.5 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อชดเชยอุปสงค์น้ำมันที่ลดลง อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยโอเปกต้องการให้ประเทศพันธมิตรให้ความร่วมมือลดการผลิตน้ำมันจำนวน 500,000 บาร์เรล/วัน จากจำนวน 1.5 ล้านบาร์เรล/วันที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ดี รัสเซียและคาซัคสถานแสดงความไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอดังกล่าว
ในการประชุมของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรในปีที่แล้ว ที่ประชุมมีมติปรับลดกำลังการผลิตอีก 500,000 บาร์เรล/วัน รวมเป็น 1.7 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ปีนี้
นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ส่วนอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 225,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 158,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% จากระดับ 3.5% ในเดือนธ.ค.