จับตาวอลล์สตรีทเจอ"แบล็คมันเดย์"คืนนี้ คาดใช้ circuit breaker สกัดตลาดทรุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 9, 2020 19:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงกว่า 1,200 จุดในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะทรุดตัวลงอย่างหนักในคืนนี้ ท่ามกลางปัจจัยลบจากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ณ เวลา 18.28 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 1,255 จุด หรือ 4.87% สู่ระดับ 24,534 จุด

ทั้งนี้ การที่ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ติดลบ 1,255 จุด หรือ 4.87% ในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทวันนี้ ถือเป็นการติดลบแตะฟลอร์ของตลาด หลังจากที่สัญญาฟิวเจอร์ที่มีการซื้อขายที่ตลาด CME ทรุดตัวลง 5% ทำให้มีการเปิดใช้ระบบ circuit breaker เพื่อระงับการซื้อขายชั่วคราว ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ติดลบสูงสุด 1,255 จุดในวันนี้

นักลงทุนจับตาการใช้ circuit breaker ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทคืนนี้

ตามกฎระเบียบของวอลล์สตรีท จะมีการใช้ circuit breaker ใน 3 กรณี ดังนี้ :-

1. หากดัชนี S&P 500 ติดลบ 7% (หรือติดลบ 208 จุดในวันนี้) จะมีการระงับการซื้อขายเป็นเวลา 15 นาที

2. หากดัชนี S&P 500 ติดลบ 13% (หรือติดลบ 386 จุดในวันนี้) จะมีการระงับการซื้อขายต่อไปอีก 15 นาที

3. หากดัชนี S&P 500 ติดลบ 20% (หรือติดลบ 594 จุดในวันนี้) จะมีการระงับการซื้อขายตลอดทั้งวัน

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังไม่เคยบังคับใช้ circuit breaker ในระบบใหม่ดังกล่าว หลังจากที่มีการประกาศใช้ในเดือนก.พ.2556 โดยตลาดได้ทำการปรับปรุงระบบใหม่ เนื่องจากพบว่า circuit breaker ระบบเดิมไม่สามารถสกัดการทรุดตัวของตลาดหุ้นในเดือนพ.ค.2553

การทรุดตัวของดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ทำให้เกิดความวิตกกันว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะเผชิญกับเหตุการณ์แบล็คมันเดย์อีกครั้งในคืนนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ได้ทรุดตัวลงอย่างหนักถึง 508 จุด ในเหตุการณ์แบล็คมันเดย์ วันที่ 19 ต.ค.2530 โดยทำสถิติปรับตัวลงมากที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่มีการก่อตั้งตลาดหุ้นนิวยอร์ก ส่งผลให้มูลค่าตลาดหายไปถึง 22.6% คิดเป็นวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์ระบุว่า สาเหตุของการไหลลงของดาวโจนส์ในวันแบล็คมันเดย์เกิดจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนที่ว่า ค่า P/E ของหุ้นจำนวนมากได้พุ่งขึ้นสูงเกินไป จนทำให้เกิดแรงเทขายออกมา และเมื่อตลาดหุ้นดิ่งลง ก็ได้กระตุ้นให้เกิดการเทขายหุ้นระลอกใหม่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการตั้งคำสั่งไว้ล่วงหน้า ส่งผลให้มีการเทขายหุ้นล็อตใหญ่จากบริษัทโบรกเกอร์ และสถาบันการเงินขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ดาวโจนส์ทรุดตัวลงจากเหตุการณ์แบล็คมันเดย์ แต่ดัชนีก็ยังคงสามารถฟื้นตัวขึ้น จนทะลุระดับ 10,000 จุดในวันที่ 29 มี.ค.2542 สู่ระดับ 10,006.78 จุด โดยได้อานิสงส์จากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มการเงิน

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะทำการปรับเวลาซื้อ-ขายหุ้นในตลาด โดยจะปรับเวลาเร็วขึ้น 1 ชั่วโมงในวันนี้ เนื่องจากเข้าสู่ช่วง Daylight Saving Time

ทั้งนี้ ตลาดจะเปลี่ยนแปลงเวลาซื้อขาย จากเดิม 21:30-04:05 น. ตามเวลาไทย เป็น 20:30-03:05 น.ตามเวลาไทย

การปรับเวลาตาม Daylight Saving Time ในสหรัฐปีนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม-1 พฤศจิกายน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ