จับตาวอลล์สตรีทอาจใช้ circuit breaker คืนนี้ หลังดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดิ่งกว่า 1,000 จุดแตะฟลอร์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 16, 2020 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นนิวยอร์กอาจทรุดตัวลงอย่างหนักในวันนี้ จนต้องใช้ระบบ circuit breaker ในวันนี้ แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการครั้งใหญ่ในการประชุมฉุกเฉินวานนี้ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงกว่า 1,000 จุดแตะฟลอร์ในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะทรุดตัวลงอย่างหนักในคืนนี้ ขณะที่ค่าของ SPDR S&P 500 ETF Trust (SPY) ซึ่งติดตามดัชนี S&P 500 ได้ทรุดตัวลง 9% ในการซื้อขายก่อนเปิดตลาด ซึ่งบ่งชี้ว่าจะมีการใช้มาตรการ circuit breaker เพื่อระงับการซื้อขายชั่วคราวเมื่อเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในคืนนี้ นอกจากนี้ ETFs ซึ่งติดตามดัชนีดาวโจนส์ และดัชนี Nasdaq ก็ดิ่งลงมากกว่า 8%

หากตลาดหุ้นวอลล์สตรีทใช้มาตรการ circuit breaker ในคืนนี้ ก็จะเป็นการใช้ครั้งที่ 3 ในรอบ 2 สัปดาห์ หลังจากมีการใช้ 2 ครั้งในสัปดาห์ที่แล้วเพื่อพักการซื้อขายชั่วคราว ขณะที่นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศระงับการเดินทางจากประเทศในยุโรปเข้าสู่สหรัฐ

ตามกฎระเบียบของวอลล์สตรีท จะมีการใช้ circuit breaker ใน 3 กรณี ดังนี้ :-

1. หากดัชนี S&P 500 ติดลบ 7% จะมีการระงับการซื้อขายเป็นเวลา 15 นาที

2. หากดัชนี S&P 500 ติดลบ 13% จะมีการระงับการซื้อขายต่อไปอีก 15 นาที

3. หากดัชนี S&P 500 ติดลบ 20% จะมีการระงับการซื้อขายตลอดทั้งวัน

ทั้งนี้ เฟดสร้างความประหลาดใจต่อตลาดด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.00% ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวานนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 1.00% จากระดับ 1.00-1.25% สู่ระดับ 0.00-0.25%

เฟดยังได้ประกาศซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับธนาคารพาณิชย์ลง 1.25% สู่ระดับ 0.25% และขยายอายุเงินกู้เป็นเวลา 90 วัน และเฟดยังได้ปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารจำนวนหลายพันแห่งสู่ระดับ 0%

นอกจากนี้ เฟดได้ประกาศความร่วมมือกับธนาคารกลางระดับโลก เช่น ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสวิส ในการเพิ่มสภาพคล่องของดอลลาร์ทั่วโลกผ่านทางข้อตกลงสว็อประหว่างธนาคารกลางดังกล่าว

การดำเนินการของเฟดในครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการครั้งใหญ่ที่สุดภายในวันเดียวที่เฟดเคยดำเนินการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ