ดาวโจนส์พุ่งกว่า 200 จุด ทุบนิวไฮวันที่ 2 ขานรับปัจจัยบวกทะลักเข้าตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 11, 2021 22:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 200 จุด ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ขานรับปัจจัยบวกที่ทะลักเข้าตลาด

ณ เวลา 22.02 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,504.97 จุด บวก 207.95 จุด หรือ 0.64%

หุ้นกลุ่มพลังงานและเทคโนโลยีต่างพุ่งขึ้นในวันนี้

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดีดตัวขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเตรียมลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในวันพรุ่งนี้ หลังจากผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐวานนี้

ร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว มีชื่อว่า "American Rescue Plan Act of 2021" จะครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวอเมริกันโดยตรงคนละ 1,400 ดอลลาร์, ให้เงินช่วยเหลือรัฐต่างๆ และรัฐบาลกลางในวงเงิน 3.50 แสนล้านดอลลาร์, จัดสรรเงินทุนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และขยายเวลาของโครงการช่วยเหลือคนตกงานสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ออกไปจนถึงเดือนก.ย.ปีนี้

การลงนามของปธน.ไบเดนในวันพรุ่งนี้ จะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายก่อนวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานในปัจจุบันจะหมดอายุลง

การซื้อขายในตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่าระดับ 1.5% ในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อวานนี้

ทั้งนี้ สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

นอกจากนี้ ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน และชะลอตัวลง เมื่อเทียบรายปี

ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้เป็นปัจจัยผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งทะลุระดับ 1.6% แตะระดับสูงสุดในปีนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากอยู่ต่ำกว่า 1% ในช่วงต้นปีนี้

นักลงทุนยังขานรับตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งลดลงสู่ระดับ 712,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 725,000 ราย

นอกจากนี้ จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 193,000 ราย สู่ระดับ 4.1 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค. เพื่อดูท่าทีของเฟดต่อแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ