ดัชนีดาวโจนส์พุ่งกว่า 100 จุดใกล้ทะลุแนว 33,000 จุดในวันนี้ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจากวันศุกร์
ณ เวลา 20.32 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,922.86 จุด บวก 144.22 จุด หรือ 0.44%
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททำการปรับเวลาซื้อ-ขายหุ้นในวันนี้ โดยปรับเวลาเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง เนื่องจากเข้าสู่ช่วง Daylight Saving Time
ทั้งนี้ ตลาดเปลี่ยนแปลงเวลาซื้อขาย จากเดิม 21:30-04:05 น. ตามเวลาไทย เป็น 20:30-03:05 น.ตามเวลาไทย
การปรับเวลาตาม Daylight Saving Time ในสหรัฐปีนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม-7 พฤศจิกายน 2564
ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นขานรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้างในสหรัฐ รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนกล่าวว่า เขาจะทำให้ชาวอเมริกันทุกคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายในวันที่ 1 พ.ค. หลังจากที่ชาวอเมริกันได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 100 ล้านโดสแล้ว ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ปธน.ไบเดนต้องการบรรลุในช่วงการดำรงตำแหน่ง 100 วันแรกของเขา
ล่าสุด ปธน.ไบเดนกำหนดเป้าหมายใหม่ โดยเขาต้องการให้ชาวอเมริกันสามารถสังสรรค์กับเพื่อนและสมาชิกครอบครัวเป็นกลุ่มเล็กๆได้เพื่อฉลองวันชาติสหรัฐในวันที่ 4 ก.ค.
หุ้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มสายการบิน ต่างดีดตัวขึ้นในการซื้อขายวันนี้
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากการชะลอตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีชะลอตัวในวันนี้ หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีเมื่อวันศุกร์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 1.642% เมื่อวันศุกร์ ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2563 หลังจากที่ปธน. ไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
มีการคาดการณ์กันว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวมากขึ้นจากการใช้จ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐ
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังดีดตัวขึ้นขานรับตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ต่ำกว่าคาด รวมทั้งการที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี
ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้เป็นปัจจัยผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งทะลุระดับ 1.6% แตะระดับสูงสุดในปีนี้เมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค. หลังจากอยู่ต่ำกว่า 1% ในช่วงต้นปีนี้
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ เพื่อดูท่าทีของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อที่เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ