ดาวโจนส์ร่วงกว่า 100 จุด กังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 11, 2022 21:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุด ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ณ เวลา 21.13 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 29,094.30 จุด ลบ 108.58 จุด หรือ 0.37%

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด ดีดตัวเหนือระดับ 4.3% ในวันนี้ และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี

การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในกลางปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ การดีดตัวของอัตราดอกเบี้ย และการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในวันนี้ โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9%

"ภาวะเลวร้ายที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้า และประชาชนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า" รายงานระบุ

IMF ระบุว่ารายงานดังกล่าวเป็นการบ่งชี้การขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 นอกเหนือจากช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน และการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19

นักลงทุนจับตาการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผลประกอบการจะชะลอตัวในไตรมาส 3 โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์

ข้อมูลจาก Refinitiv data ระบุว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นเพียง 4.1% ในไตรมาส 3 โดยลดลงจากระดับ 11.1% ที่มีการคาดการณ์ในช่วงต้นเดือนก.ค.

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของเฟดประจำเดือนก.ย.ในวันที่ 12 ต.ค. และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันที่ 13 ต.ค. เพื่อหาสิ่งบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ผลการสำรวจพบว่า ดัชนี CPI ยังคงบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อที่ร้อนแรงในเดือนก.ย. โดยดีดตัวขึ้นมากกว่า 8% ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี แม้ชะลอตัวจากเดือนส.ค.

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 8.3% ในเดือนส.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. จากระดับ 0.1% ในเดือนส.ค.

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.5% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยสูงกว่าระดับ 6.3% ในเดือนส.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ