ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าบวก นักลงทุนจับตาประชุมเฟด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 29, 2024 09:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดภาคเช้าบวกเป็นส่วนใหญ่ในวันนี้ (29 เม.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีกำหนดจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดการณ์อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ (26 เม.ย.)

ดัชนีฮั่งเส็งเปิดตลาดที่ระดับ 17,737.93 จุด เพิ่มขึ้น 86.78 จุด หรือ +0.49% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเปิดตลาดที่ระดับ 3,086.68 จุด ลดลง 1.96 จุด หรือ -0.06%

ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ปรับตัวขึ้น 0.55% ในวันนี้ หลังปรับตัวลดลงในวันศุกร์

ดัชนี Kospi ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ปรับตัวขึ้น 0.63% และดัชนี Kosdaq ปรับตัวขึ้น 0.94%

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันโชวะ

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 30 เม.ย. - 1 พ.ค. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย.จาก ADP, ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนมี.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ.และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.8% เช่นกันในเดือนก.พ. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ