ต่างชาติจ่อถอนทุนจากตลาดหุ้นเอเชียอีก หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงวันพุธนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 20, 2022 10:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีกครั้งในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ก็อาจจะเร่งให้กองทุนต่างชาติแห่ถอนการลงทุนออกจากตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชียรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมตลาดกลุ่มนี้ให้ย่ำแย่ลงอีกจากเดิมที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. โดยหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้ ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค.

ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ (Bloomberg Intelligence) ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนออกจากตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยกเว้นจีน ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 แล้ว โดยนับจนถึงวันที่ 16 ก.ย. นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนออกไปทั้งสิ้น 423 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการถอนการลงทุนติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีนี้ และส่งผลให้สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มตลาดหุ้นในภูมิภาคแห่งนี้ด้วย

แม้ว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชียและการดำเนินนโยบายโดยรวมจะดีกว่าในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ "Taper Tantrum" เมื่อปี 2556 แต่การแข็งค่าของดอลลาร์ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ธนาคารกลางในเอเชียพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินนั้น ทำให้ตลาดเกือบทุกแห่งในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชียได้รับผลกระทบที่รุนแรง

ทั้งนี้ Taper Tantrum คือเหตุการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2556 หลังจากเฟดประกาศว่าจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และยังผลักดันให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อปกป้องบัญชีทุนในประเทศ

ส่วนเม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ในเอเชียปีนี้อยู่ที่ประมาณ 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขตลอดทั้งปี 2564 โดยตลาดหุ้นไต้หวันและเกาหลีใต้ซึ่งมีบริษัทเทคโนโลยีจดทะเบียนอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด และเป็นสองแห่งในบรรดาตลาดหุ้นที่ทำผลงานได้ย่ำแย่ที่สุดของโลกในปีนี้

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเหนือกำลังอ่อนแอลงนั้น แต่เม็ดเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นอินเดียเริ่มลดน้อยลง และตลาดหุ้นหลายแห่งซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยและอินโดนีเซียยังคงทำผลงานได้ดี โดยดัชนี Nifty 50 ตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นกว่า 11% ในไตรมาสนี้ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยและอินโดนีเซียดีดตัวขึ้นราว 4% ซึ่งดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้น 1% และดัชนีหุ้นไต้หวันที่ลดลง 1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ