รอยเตอร์ชี้ เงินเฟ้อ-ศก.ถดถอย-ผลประกอบการ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนราคาหุ้นสหรัฐปี 66

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 28, 2022 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นสหรัฐทรุดตัวลงอย่างหนักในปีนี้ โดยหลัก ๆ แล้วถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

ดัชนี S&P500 ลดลงแล้วเกือบ 20% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 ขณะที่ ดัชนี Nasdaq Composite ทรุดตัวลงรุนแรงยิ่งกว่า โดยร่วงลงไปเกือบ 34% ในปีนี้

หุ้นบริษัทใหญ่ดิ่งลงไปตาม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นแอมะซอนดอตคอม ซึ่งปรับตัวลงประมาณ 50% ในปีนี้ หรือเทสลา อิงค์ที่ลดลงประมาณ 70% ส่วนเมตา แพลตฟอร์ม อิงค์ทรุดตัวลงประมาณ 65% แต่หุ้นกลุ่มพลังงานสวนกระแสตลาดด้วยการปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปัจจัยหลัก ๆ ที่จะมาขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐในปี 2566 นั้นได้แก่เงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย และผลประกอบการบริษัท

เงินเฟ้อและความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ มีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐในปี 2566 ขณะเดียวกัน นักลงทุนจะจับตาผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย เช่นว่านโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นนั้นจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไรและจะทำให้สินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ น่าดึงดูดใจมากกว่าหุ้นหรือไม่

หากเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยในปีหน้า หุ้นเสี่ยงเผชิญภาวะทรุดตัวลงอีกปี โดยข้อมูลในอดีตแสดงให้เห็นว่าภาวะตลาดหมีจะไม่แตะจุดต่ำสุดหากยังเศรษฐกิจถดถอยยังไม่เริ่มต้นขึ้น

บริษัททรูอิสต์ แอดไวซอรี เซอร์วิสเซส (Truist Advisory Services) ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีแนวโน้มกระทบหุ้นอย่างหนัก โดยดัชนี S&P500 ร่วงเฉลี่ย 29% ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม หุ้นมักดีดตัวกลับอย่างแข็งแกร่งในเวลาต่อมา

ขณะที่นักลงทุนวิตกกังวลว่า การคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทอาจไม่ได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งฉุดหุ้นมากยิ่งขึ้น

รีฟินิทิฟ ไอบีอีเอส (Refinitiv IBES) เปิดเผยประมาณการโดยเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ที่ระบุว่า ผลประกอบการของบริษัทบนกระดาน S&P500 จะปรับขึ้น 4.4% ในปี 2566 แต่เนด เดวิส รีเสิร์จ (Ned Davis Research) ระบุว่า ผลประกอบการรายปีโดยเฉลี่ยของบริษัทลดลง 24% ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลพุ่งสูงขึ้นและลดความน่าดึงดูดในหุ้น โดยผลตอบแทนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (TIPS) สัญญา 10 ปี ซึ่งรู้จักกันในฐานะผลตอบแทนที่แท้จริง เพราะไม่รวมคาดการณ์เงินเฟ้อ เคลื่อนไหวที่ประมาณ 1.5% เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังแตะระดับสูงสุดในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษในเดือนต.ค.

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนชี้ว่า หุ้นทำผลงานได้ค่อนข้างดีในอดีตในช่วงที่ผลตอบแทนพันธบัตรสูงยิ่งกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ