สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (2 ก.ค.) หลังตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนของสหรัฐฯ ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.05% แตะที่ระดับ 96.777
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 143.62 เยน จากระดับ 143.72 เยนในวันอังคาร (1 ก.ค.) ขณะเดียวกันก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.7914 ฟรังก์ จากระดับ 0.7927 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3596 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3652 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1800 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1781 ดอลลาร์ในวันอังคาร ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3636 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3738 ดอลลาร์
ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ ลดลง 33,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีหรือนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2566 และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 100,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 29,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค.
ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ย.
เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้เน้นย้ำในงานเสวนาซึ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดขึ้นที่เมืองซินตรา ประเทศโปรตุเกส เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เฟดจะใช้แนวทางอดทนรอคอยก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่เขาไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ โดยกล่าวว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดจะได้รับ
นักลงทุนจับตาร่างกฎหมายปรับลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายขนานใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงที่ฉิวเฉียด และขณะนี้ได้ถูกส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอการอนุมัติในขั้นตอนสุดท้าย ด้านนักวิเคราะห์เตือนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้อาจทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 120,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 139,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.3% ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 4.2% ในเดือนพ.ค.