ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ปอนด์อ่อนค่าเทียบดอลล์ หลังธนาคารกลางอังกฤษหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 12, 2017 07:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสู่ระดับ 1.9% ในปีนี้

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0868 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0858 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.2886 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2936 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 0.7375 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7367 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 113.93 เยน จากระดับ 114.32 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 1.0071 ฟรังก์สวิส จากระดับ 1.0094 ฟรังก์สวิส

สกุลเงินปอนด์ได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลง ภายหลังจากธนาคารกลางอังกฤษได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรสู่ระดับ 1.9% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนก.พ.ที่ระดับ 2.0%

นอกจากนี้ BoE ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสหราชอาณาจักร สู่ระดับ 2.7% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนก.พ.ที่ระดับ 2.4% พร้อมกับคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับสูงสุดที่ 2.8% ในไตรมาสที่ 4 ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 2 ของปีหน้า

ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.06% สู่ระดับ 99.614 เมื่อคืนนี้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง มาจากความวิตกเกี่ยวกับการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ได้สั่งปลดนายเจมส์ โคมีย์ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) ชนิดเหนือความคาดหมาย อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของสกุลเงินดอลลาร์ยังอยู่ในทิศทางที่สดใส เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สหรัฐเปิดเผยล่าสุดนั้นยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งกระตุ้นกระแสคาดการณ์ในตลาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดอาจมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้นั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย ในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 236,000 ราย

สำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 29 เม.ย. มีจำนวนลดลง 61,000 ราย สู่ระดับ 1.92 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.1988 ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ลดลง 27,500 ราย สู่ระดับ 1.97 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.1974

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยด้วยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนมี.ค. การดีดตัวของดัชนี PPI ในเดือนเม.ย. นับเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ซึ่งดีดตัวขึ้น 0.5% เช่นกัน

นักลงทุนจับตาดูรายงานยอดค้าปลีกประจำเดือนเม.ย.ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐซึ่งจะเปิดเผยในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้เช่นกัน ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมี.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนพ.ค.โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ