ดอลล์แข็งค่าเทียบเยน รับคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย ขณะนลท.จับตา "เยลเลน" แถลงนโยบายรอบครึ่งปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 11, 2017 20:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนในวันนี้ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาดในเดือนมิ.ย.

เมื่อเวลา 19.25 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 114.32 เยน

ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.1% แตะระดับ 96.13

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งเกินคาดในเดือนมิ.ย. โดยตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้น 222,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 174,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% จาก 4.3% ในเดือนพ.ค. ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ ตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนหลังจากนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการปรับลดงบดุลบัญชีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นักลงทุนจับตานางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดซึ่งมีกำหนดจะแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันพุธที่ 12 ก.ค. และจากนั้นจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งวุฒิสภาสหรัฐในวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.ค.นี้

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า นางเยเลนจะแสดงมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐและแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองเกี่ยวกับตลาดแรงงานสหรัฐ หลังจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเกินคาดในเดือนมิ.ย.

นักลงทุนรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนพ.ค., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย., ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ