ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก หลังสหรัฐเผยข้อมูลศก.ซบเซา

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 28, 2019 07:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 มิ.ย.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ขยายตัวต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งแรก

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.73 เยน จากระดับ 107.83 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9759 ฟรังก์ จากระดับ 0.9779 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3093 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3115 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1373 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1369 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2665 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2688 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7004 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6984 ดอลลาร์สหรัฐ

ทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลหลายรายการเมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการขั้นสุดท้ายสำหรับการขยายตัวของ GDP ประจำไตรมาส 1/2562 ที่ระดับ 3.1% ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และเท่ากับตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 แต่ต่ำกว่าระดับ 3.2% ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 10,000 ราย สู่ระดับ 227,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์จะเพิ่มขึ้น 1.0%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปนั้น คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนร่วงลงสู่ระดับ 103.3 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2559 จากระดับ 105.2 ในเดือนพ.ค.

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค., การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ