ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก หลังข้อมูลศก.สหรัฐซบเซา,คาดเฟดลดดอกเบี้ยเดือนนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 19, 2019 07:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 ก.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ และจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า ดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินจริง

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.51 เยน จากระดับ 108.09 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9832 ฟรังก์ จากระดับ 0.9870 ฟรังก์ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3045 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3041 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1266 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1222 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2538 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2436 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7066 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7015 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 8,000 ราย สู่ระดับ 216,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวลง 0.3% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการร่วงลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว

ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค.นี้ โดย FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 65.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.25-2.50% และมีโอกาส 34.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.75-2.00%

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงหลังจาก IMF เผยแพร่รายงาน External Sector Report ระบุว่า สกุลเงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินจริงถึง 6-12% เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะใกล้ ขณะที่สกุลเงินเยน หยวน และยูโร มีมูลค่าสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน

อย่างไรก็ดี IMF ระบุว่า แม้ยูโรมีมูลค่าสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของยุโรป แต่ก็มีมูลค่าต่ำเกินไป 8-18% เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของเยอรมนี เมื่อพิจารณาถึงตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของเยอรมนี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ