ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก เหตุวิตกโควิด-19 หนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 8, 2020 07:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเดินหน้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.27 เยน จากระดับ 107.85 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9760 ฟรังก์ จากระดับ 0.9730 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.4154 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4190 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0811 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0851 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2272 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2396 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.5998 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6048 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเดินหน้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยข้อมูลจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 1,410,185 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 81,014 ราย

ทั้งนี้ สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (386,194) รองลงมาคือสเปน (140,511), อิตาลี (135,586), ฝรั่งเศส (109,069), เยอรมนี (106,504) และจีน (81,740)

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 130,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 6.9 ล้านตำแหน่งในเดือนก.พ. ขณะที่อัตราการเปิดรับสมัครงานลดลงสู่ระดับ 4.3% จากระดับ 4.4% ในเดือนม.ค.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.พ. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ