ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ปอนด์อ่อนเทียบดอลล์ วิตกอังกฤษเผชิญ no-deal Brexit

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 9, 2020 07:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า อังกฤษอาจจะเผชิญกับการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง (no-deal Brexit) หลังจากการเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) ยังคงไม่มีความคืบหน้า

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.18% แตะที่ 90.9495 เมื่อคืนนี้

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3352 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3399 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2103 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2119 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7405 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7429 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.18 เยน จากระดับ 103.97 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2819 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2795 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.8893 ฟรังก์ จากระดับ 0.8902 ฟรังก์

เงินปอนด์ได้รับแรงกดดันจากการที่อังกฤษและ EU ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันในหลายประเด็น ขณะที่โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวว่า หากไม่มีการบรรลุข้อตกลงก่อนวันที่ 1 ม.ค. อังกฤษก็จะเข้าสู่ภาวะการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง (no-deal Brexit)

อย่างไรก็ดี แถลงการณ์จากบ้านพักนายกรัฐมนตรีอังกฤษระบุว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตรียมเดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ในวันนี้ เพื่อจัดการเจรจากับนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งท่าทีดังกล่าวของนายจอห์นสัน สวนทางกับสิ่งที่เขากล่าวก่อนหน้านี้ว่า อังกฤษพร้อมที่จะยุติการเจรจาการค้ากับ EU โดยอังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนต.ค., ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนต.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ