ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบค่าเงินหลัก นักลงทุนจับตาผลประชุมเฟด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 4, 2022 07:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (3 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนที่จะรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่า หลังจากธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินคาดในการประชุมเมื่อวานนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.27% แตะที่ 103.4620

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0529 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0495 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2491 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2475 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7095 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7039 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2840 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2901 ดอลลาร์แคนาดา และทรงตัวเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9786 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.18 เยน จากระดับ 130.15 เยน

นักลงทุนขายทำกำไรหลังจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดซึ่งจะมีการแถลงในเวลา 01.00 น.ของวันพฤหัสบดีที่ 5 พ.ค.ตามเวลาไทย ก่อนที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดจะจัดการแถลงข่าวในเวลา 01.30 น.ตามเวลาไทย

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2543 ที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%

ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น หลังจากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.35% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่า RBA จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.15% สู่ระดับ 0.25%

ทั้งนี้ RBA ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี และส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในอนาคต โดยนายฟิลลิป โลว์ ผู้ว่าการ RBA กล่าวว่า "คณะกรรมการบริหารของ RBA มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในสิ่งที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียจะกลับคืนสู่เป้าหมาย ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย"

การที่ RBA ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการคาดการณ์เมื่อวานนี้ มีขึ้นหลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งขึ้นแตะระดับ 5.1% ในไตรมาส 1/2565 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี

นอกเหนือจากการประชุมเฟดแล้ว นักลงทุนยังจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนเม.ย.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนเม.ย.จะเพิ่มขึ้น 390,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 3.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ