มูดี้ส์ เรทติ้งส์ (Moody's Ratings) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ปรับลดมุมมอง (outlook) อันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน 7 แห่งของไทยเป็น "เชิงลบ" (negative) จาก "มีเสถียรภาพ" (stable) หลังจากเพิ่งลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย (sovereign rating outlook) ไปเพียงหนึ่งวันก่อนหน้านี้
วานนี้ (30 เม.ย.) มูดี้ส์ได้ปรับลดมุมมองอันความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินไทย 7 แห่ง ได้แก่
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) [BBL]
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIMT)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) [KBANK]
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) [KTB]
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) [SCB]
- บริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (SCBX)
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) [TTB]
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (29 เม.ย.) มูดี้ส์ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเป็น "เชิงลบ" จากเดิมที่ระดับ "มีเสถียรภาพ" แม้ว่าจะยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินบาทแบบไม่มีหลักประกันของไทย ที่ระดับ Baa1 รวมทั้งคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของไทย ที่ระดับ P-2
สำหรับการปรับลดมุมมองอันดับเครดิตครั้งนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยที่อ่อนแอลงอีก ท่ามกลางภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของโลกที่เพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจมหภาคที่เสื่อมถอยลง โดยอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเครดิต (credit profile) ของธนาคารไทย ซึ่งประสบปัญหาอยู่แล้วจากการเติบโตของสินเชื่อและปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลงจากการระบาดของโควิด นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้รัฐบาลไทยไม่สามารถสนับสนุนธนาคารต่าง ๆ เมื่อถึงคราวจำเป็น
ทั้งนี้ หากอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยถูกปรับลด จะส่งผลให้สถาบันการเงินของไทยทั้ง 7 แห่งดังกล่าวถูกปรับลดอันดับตามไปด้วย เนื่องจากสถาบันเหล่านี้มีการสนับสนุนจากรัฐบาล หรืออยู่ในระดับเดียวกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ