(เพิ่มเติม) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ของ SCC ที่ระดับ 'A(tha)'

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 11, 2016 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ ของบมจ. ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ครั้งที่ 1/2559 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2563 มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ที่ระดับ 'A(tha)'

หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’) เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของ SCC โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและใช้สำหรับการลงทุนในอนาคต

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น – การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบในธุรกิจเคมีภัณฑ์ส่งผลให้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) และอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในปี 2558 ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2559-2560 โดยส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์โพลิเอททีลีนที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการของ SCC ในปี 2559 ในขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างในประเทศ และการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตของฐานการผลิตใหม่ของ SCC ในภูมิภาค จะเป็นปัจจัยหลักที่สร้างการเจริญเติบโตให้ SCC ในปี 2560

ฟิทช์คาดว่า EBITDA Margin ของ SCC จะคงอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 15 ในปี 2559-2560 จากร้อยละ 11 ในปี 2557 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของ SCC น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3 เท่า (อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 2.8 เท่า – 4.0 เท่าในปี 2554-2557) อัตราส่วนหนี้สินที่แข็งแกร่งขึ้นจะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทฯ ในการรองรับหนี้สินที่อาจเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจในภูมิภาคโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตปัจจุบัน

การกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่หลากหลาย – อันดับเครดิตของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจของบริษัทฯ ที่มีการกระจายความเสี่ยงของแหล่งที่มาของรายได้จากธุรกิจหลักที่หลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ โดยผลประกอบการในช่วงห้าปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า SCC ได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจ ซึ่งช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น เช่น การเติบโตของธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างมีส่วนช่วยลดความกดดันจากภาวะตกต่ำของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2555 หรือการที่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ช่วยทำให้ EBITDA รวมของ SCC สูงขึ้นแม้ว่าธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างจะมีผลประกอบการที่อ่อนแอในปี 2558 การที่ SCC ยังคงมุ่งขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์ต่อสถานะทางธุรกิจของบริษัทฯ ในระยะยาว

ความเป็นผู้นำในตลาด – SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวัดจากกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาด ฟิทช์คาดว่า SCC น่าจะยังคงรักษาสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักเหล่านี้ไว้ได้ต่อไปในอีกห้าปีข้างหน้า

แผนการลงทุนที่ยังคงสูง – จากแผนการขยายธุรกิจในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของ SCC น่าจะยังคงสูงต่อเนื่องที่ระดับประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2559-2560 แม้ว่าการใช้เงินลงทุนในโครงการปิโตรเคมีครบวงจรในประเทศเวียดนามจะล่าช้าออกไปก็ตาม

ความผันผวนของธุรกิจ – อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการที่ SCC ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ รวมถึงความสามารถที่จำกัดในการกำหนดราคาในกลุ่มสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทฯ อีกด้วย

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • Operating EBITDA เติบโตเล็กน้อยในปี 2559 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ยังคงแข็งแกร่ง
  • Operating EBITDA จากธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง คงอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2559-2560
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 40-50

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

  • การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของสัดส่วนของกระแสเงินสดที่มาจากธุรกิจในภูมิภาค
  • อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.75 เท่า (อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 2.47 เท่า ในปี 2558 โดยคำนวณเบื้องต้นจากงบการเงินที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี)

ปัจจัยลบ:

  • สถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทฯ ที่อ่อนแอลง ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับสูงกว่า 3.75 เท่า อย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ