Xinhua's Interview: นักเศรษฐศาสตร์ชี้ "Chinanomics" เป็นกุญแจสำคัญหนุนศก.แดนกิโมโนฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 17, 2015 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคิโยยูกิ เซกุชิ นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Canon Institute for Global Studies ระบุว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้นกับจีนเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับญี่ปุ่นในการที่จะพลิกฟื้นเศราฐกิจที่ซบเซา โดยขนานนามแนวทางนี้ว่า "Chinanomics"

นายเซกุชิ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของสถาบันแห่งนี้ กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะสามารถฟื้นตัวได้ เนื่องจากปัจจัยบวกจากนโยบาย "Abenomics" ดูเหมือนว่าจะเหือดหายลงไปแล้ว และบริษัทส่วนใหญ่ ยกเว้นบริษัทขนาดใหญ่บางราย ยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแรงในแง่ของความสามารถในการอยู่รอดและศักยภาพในการแข่งขัน

นายเซกุชิ กล่าวว่า สำหรับบริษัททั่วๆไปแล้ว บริษัทเหล่านี้ยังคงต้องการดีมานด์ใหม่ๆ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น อันเนื่องมาจากการขาดดุลการเงินจำนวนมหาศาล ดังนั้น จีนจึงเป็นตลาดที่บริษัทกลุ่มนี้ต้องการ

นักวิจัยอาวุโสรายนี้ย้ำในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบทวิภาคีที่ปรับตัวดีขึ้นนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากบรรดาบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่เข้าใจจีนอย่างดีพอ ได้เริ่มกลับเข้ามาลงทุนในจีนอีกครั้ง ขณะที่บริษัทของญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นก็จะเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อจีน และสนับสนุนการลงทุนในจีนมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดก็ส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น

นายเซกุชิกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในจีนและสหรัฐ แต่การส่งออกของญี่ปุ่นไปยังจีนนั้นมากกว่าการส่งออกของสหรัฐอย่างมาก ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจที่ราบรื่นของจีนจึงมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับญี่ปุ่น

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา จีนได้เปิดเผยอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลวมภายในประเทศในช่วงไตรมาสแรกที่ 7.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลของจีนนั้น นายเซกุชิกล่าวชื่นชมอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงในจีน ซึ่งเรียกกันว่า new normal ว่ามีความสมเหตุสมผลมากขึ้น และนโยบายดังกล่าวจะนำมาซึ่งการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นของเศรษฐกิจจีน

นายเซกุชิกล่าวว่า 'new normal' หมายความถึงภาวะที่เป็นปกติ 2 ภาวะ ได้แก่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นปกติและโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นปกติ

ในช่วงระยะเวลา 10 ปี จีนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อได้แตะ 5% ถึง 3 ครั้ง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ แต่นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2555 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ประสบความสำเร็จในการดูแลให้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า 3% ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่น่ายินดี

นายเซกุชิกล่าวต่อไปว่า ภายใต้ภาวะที่ผิดปกติเช่นนั้น การลงทุนในสินทรัพย์คงที่และอสังหาริมทรัพย์ชี้ให้เห็นถึงภาวะที่ร้อนแรงจนเกินไปมาเป็นเวลานาน แต่รัฐบาลจีนชุดปัจจุบัน ซึ่งใช้กลไกของตลาด ได้บริหารจัดการแนวโน้มที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นักวิจัยรายนี้กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับจีน และเป็นสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ อัตราจ้างงานและราคาในขณะนี้ยังคงมีเสถียรภาพ รัฐบาลจีนเองก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับ 2 ดัชนีหลักดังกล่าว เพื่อให้ดัชนีปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายด้านนโยบายที่สมเหตุสมผล

แต่นายเซกุชิได้แนะนำให้จีนยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยชี้ว่า ยอดขาดดุลการค้าที่อาจจะสูงขึ้นถือเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างมากสำหรับจีน

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับปริมาณการซื้อที่สร้างความประหลาดใจของนักท่องเที่ยวจีนในญี่ปุ่นในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนและฤดูใบไม้ผลินั้น นายเซกุชิกล่าวว่า ศักยภาพในการซื้อที่แข็งแกร่งของนักท่องเที่ยวจีนได้สร้างผลกำไรอย่างมากต่อภาคธุรกิจต่างๆของญี่ปุ่น

นายเซกุชิ กล่าวสรุปว่า นอกเหนือไปจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ รอยยิ้มที่ปรากฎบนใบหน้าของนักท่องเที่ยวจีนจะทำให้ชาวญี่ปุ่นคิดว่าชาวจีนชื่นชอบญี่ปุ่น และนั่นจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจะช่วยประสานช่องว่างทางการเมืองระดับทวิภาคีด้วย

หลิว เตียน, ซู หยวน และหม่า เจิ้ง สำนักข่าวซินหัวรายงาน


แท็ก ญี่ปุ่น   china   ยูกิ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ