Xinhua's Interview: ผู้เชี่ยวชาญชี้วิกฤติหนี้จีนอาจไม่เกิดขึ้น เหตุมีปัจจัยบวกรองรับ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 16, 2016 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ท่ามกลางเสียงเตือนต่างๆนานาที่ว่า จีนอาจจะต้องเผชิญวิกฤติทางการเงินที่เกิดจากภาระหนี้สิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจรายหนึ่งได้ออกมากล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่อาจจะทำให้สถานการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้น

หลี่ เยว่เฟิน ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจและการเงินเพื่อการพัฒนาประจำ South Center กรุงเจนีวา กล่าวว่า "นักเศรษฐศาสตร์มักจะใช้คำว่า พุ่งทะยานอย่างน่าอันตราย และ น่าทึ่ง เพื่อนิยามการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนในช่วงปี 2523-2542" พร้อมระบุว่า ทั้ง 2 คำนั้นยังถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงภาระหนี้ของจีนเช่นกัน

การเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างอย่างรวดเร็วของจีน จากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้าและการลงทุนเป็นหลักมาเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริการและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงวิกฤติทางการเงินทั่วโลกส่งผลให้จีนต้องเผชิญกับปัญหาด้านสัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่สูงขึ้น

หลี่ กล่าวว่า แม้ภาคเอกชนและภาครัฐจะมีหนี้สินมากขึ้น แต่พื้นฐานของระบบการเงินจีนยังคงแข็งแกร่ง พร้อมเผยว่า "หนี้ของรัฐบาลกลางนั้นต่ำกว่าหนี้ภาครัฐของประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วหลายแห่ง ส่วนหนี้ต่างประเทศก็ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ยอดเกินดุลการค้าของจีนจะหดตัว แต่ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังมั่นคง"

"หนี้ภาครัฐและเอกชนนั้นเป็นเรื่องในประเทศ ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่จีนจะประสบวิกฤติทางการเงินจึงอยู่ในระดับต่ำ หากถึงคราวจำเป็นจริง รัฐบาลกลางก็อยู่ในสถานะที่พร้อมจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มพันธบัตรรัฐบาลกลาง" หลี่ กล่าวเสริม นอกจากนี้ เธอยังระบุว่า จีนมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพียงพอ ทั้งยังอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก

เศรษฐกิจจีนได้รับการสนับสนุนด้วยระบบการเงินที่รัฐบาลมีบทบาทสำคัญ และต้นแบบเศรษฐกิจที่แตกต่างจะช่วยคลายความกังวลและเพิ่มความมั่นใจให้กับสถาบันที่ปล่อยสินเชื่อ

"หากพิจารณาเพียงหนี้และสินทรัพย์ของจีน โดยไม่กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเงินทั่วโลก จะเห็นได้ว่า วิกฤติหนี้สินอาจจะไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้" หลี่ กล่าวพร้อมอธิบายว่า "สถานภาพหนี้และสินทรัพย์ในระดับรัฐบาลกลางและครัวเรือนยังแข็งแรงดี ส่วนหนี้สินภาครัฐและเอกชนยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้"

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า จีนยังมียอดขาดดุลระดับต่ำ อยู่ที่ประมาณ 3 % ของ GDP ส่งผลให้จีนมีโอกาสรับมือกับหนี้ภาคเอกชนมากขึ้นเมื่อถึงคราวจำเป็น พร้อมแนะนำว่า จีนควรจะชะลอการปล่อยสินเชื่อ และพัฒนาคุณภาพการลงทุน ตลอดจนเดินหน้าปฏิรูปบริษัทที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและการจ่ายภาษีในประเทศ

การรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการประกันเงินฝาก และการเดินหน้าปรับลดภาระหนี้ล้วนสำคัญต่อการควบคุมสถานการณ์ทางการคลังของจีน สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ