Xinhua's Interview: นักเศรษฐศาสตร์ฟันธงศึกภาษียืดเยื้อมีแต่กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 30, 2018 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังออกโรงเตือนว่า ศึกการจัดเก็บภาษีประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐ หากยืดเยื้อออกไปอย่างยาวนานอาจจะส่งผลกระทบต่อจังหวะการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งปัจจัยพื้นฐานยังอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วง

สตีเฟน โร้ช อดีตประธานมอร์แกน สแตนลีย์ เอเชีย และนักวิชาการอาวุโสของสถาบันแจ็คสันแห่งกิจการระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเยล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ผมคิดว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่มีความแข็งแกร่งนั้น จะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่สั้นมาก และยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยชี้ว่า สถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วยเช่นกัน

  • ภาวะขาดดุลหนุนเศรษฐกิจได้ไม่นาน

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้ขยายตัวในอัตรา 4.1% ต่อปีในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งสูงกว่าสถิติไตรมาส 1 อยู่ 2.2%

โร้ช กล่าวว่า เราได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดขาดดุลงบประมาณที่ขยายตัว ซึ่งช่วยเอื้อเวลาให้กับสหรัฐไปจนถึงปีหน้า อัตราดอกเบี้ยของเรายังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าปกติต่อไป รวมทั้งเงินเฟ้อ แม้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว แต่ก็ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ทำเนียบขาวได้ปรับลดภาษีเงินได้บริษัทและบุคคลเมื่อเดือนม.ค. วงเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนสภาคองเกรสก็ได้อนุมัติพรบ.งบประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

โร้ช กล่าวว่า นโยบายต่างๆของเราช่วยสนับสนุนสหรัฐ แต่ปัจจัยพื้นฐานต่างๆยังคงอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง ค่าแรงของชาวอเมริกันในกลุ่มชนชั้นกลางไม่ได้สูงขึ้นแต่อย่างใด แม้ว่า อัตราว่างงานอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ปัญหาเงินออม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังของชาวอเมริกันยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข

"หากมีการเพิ่มเงินออมรายบุคคล, ภาคธุรกิจและภาครัฐ อัตราการออมของประเทศเราก็อยู่ที่ประมาณ 3% ของรายได้ประเทศในขณะนี้ ซึ่งไม่ถึงครึ่งของค่าเฉลี่ยในช่วง 30 ปีของศตวรรษที่ 02 " โร้ชกล่าว

โร้ช กล่าวต่อไปว่า อัตราเงินออมควรจะสูงกว่านี้ เรามีบัญชีเดินสะพัดและยอดขาดดุลการค้าระดับพหุภาคีจำนวนมากกับประเทศต่างๆรวมทั้งจีน การขยายตัวอย่างยั่งยืนจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานในระยะยาวด้วยเช่นกัน

สำนักงานงบประมาณสภาคองเกรสคาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วขึ้นในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวลงในปีหน้า เหลือ 2.4% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นด้านการคลังลดน้อยลง

  • ความเสี่ยงจากศึกภาษีกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่

โร้ชมีความเห็นเช่นเดียวกับนักเศรษฐศาตร์หลายรายที่ว่า กำแพงการค้าที่ขยายวงมากขึ้นจากศึกการเก็บภาษีของสหรัฐกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างจีน สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากผลพวงจากมาตรการกระตุ้นด้านการคลังด้วยการปรับลดภาษีนั้น จะหมดลงในเร็วๆนี้

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้มองว่า การที่สหรัฐคิดว่า ขณะนี้เป็นเวลาที่ควรจะลองเสี่ยงเพื่อกดดันประเทศคู่ค้าให้เปลี่ยนแปลงนโยบายนั้น เป็นเรื่องที่ผิดพลาด เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งและแนวโน้มของเศรษฐกิจ

ในกรณีของข้อพิพาทการค้าจีนและสหรัฐนั้น โร้ช กล่าวว่า ทำเนียบขาวขู่ที่จะขึ้นภาษีวงเงินถึง 5 แสนล้านดอลลาร์กับสินค้านำเข้าจีนเพื่อถ่วงดุล หลังจากที่ยอดนำเข้าของจีนลดลง สิ่งที่ผมมองว่า ความคิดที่ว่า การเป็นประเทศที่ขาดดุลนั้นได้เปรียบประเทศที่เกินดุล นับเป็นตัวอย่างของการวิเคราะห์แย่ๆและความเข้าใจผิดๆเรื่องการค้าระหว่างประเทศและการนำเข้าของสหรัฐ

"เรื่องนี้ย้อนกลับไปถึงกรอบเศรษฐกิจมหภาคซึ่งเราต้องพิจารณาเรื่องการขาดดุลการค้า ซึ่งเราไม่ได้ออมเงินแต่เราต้องการที่จะเติบโต เราต้องนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อมาสนับสนุนเศรษฐกิจ และนั่นทำให้ยอดดุลการชำระเงินและยอดขาดดุลการค้าแบบพหุภาคีเพิ่มขึ้น" โร้ชกล่าว

ทำเนียบขาวเพิ่งปรับเพิ่มตัวเลขการออมของสหรัฐในช่วงที่ได้มีการทบทวนครั้งใหญ่ซึ่งได้มีการเผยแพร่ไปเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา แต่อัตราการออมยังอยู่ในระดับต่ำ โดยก่อนหน้าที่จะมีการทบทวนตัวเลขนั้น ได้มีการประเมินว่า การออมจะอยู่ต่ำกว่า 2% ของรายได้ประเทศ และปัจจุบันก็อยู่ที่ระดับประมาณ 3%

โร้ช กล่าวว่า ในขณะที่เรายังกดดันในเรื่องการออมต่อไปนั้น การขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก ช่องว่างทางการค้าแบบพหุภาคี และช่องว่างการค้ากับจีน จะยังคงขยายตัว และนี่เองที่เป็นสูตรการขยายตัวสำหรับเศรษฐกิจที่มีเงินออมไม่เพียงพออย่างสหรัฐ

ในขณะที่การออมภายในประเทศร่วงลง สหรัฐเองมีทางเลือก 2 ทาง ได้แก่ การลดการลงทุน หรือเพิ่มการกู้ยืมจากต่างประเทศ ในช่วงกว่า 35 ปีที่ผ่านมา สหรัฐได้เลือกใช้วิธีการที่ 2 มาโดยตลอด ส่งผลให้มีการขาดดุลทุกๆปีมาตั้งแต่ปี 2525 ยกเว้นช่วงปี 2534 ที่เกิดสงครามอ่าวและกองทัพสหรัฐได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยภาวะการขาดดุลดังกล่าวเกิดขึ้นไปพร้อมกับการขาดดุลการค้าที่เรื้อรังกับประเทศคู่ค้าของสหรัฐ และเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐมียอดขาดดุลการค้ากับ 102 ประเทศ

  • ข้อพิพาทการค้าอาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ

โร้ช กล่าวว่า โชคร้ายที่ข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก 2 ประเทศเขม็งเกลียวมากยิ่งขึ้น

มูลค่าการนำเข้า 5 แสนล้านดอลลาร์จากจีนไปยังสหรัฐนั้นมีประโยชน์และองค์ประกอบจากประเทศต่างๆทั่วโลกผ่านการเชื่อมโยงซัพพลายเชน และการนำเข้าเหล่านี้ก็ทำให้ราคาสินค้าลดลงสำหรับสังคมอเมริกัน และการเก็บภาษีสินค้านำเข้าเหล่านี้ก็เท่ากับเป็นการเก็บภาษีผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ผลการศึกษาจากสภาธุรกิจสหรัฐ-จีนระบุว่า การค้ากับจีนนั้นทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันประหยัดลงได้ 850 ดอลลาร์ต่อครัวเรือนในปี 2558

โร้ช กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นมุมของความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ราคาเริ่มจะปรับตัวขึ้นหลังจากที่มีการจัดเก็บภาษี แน่นอน จีนมีบทบาทที่สำคัญในการให้เงินทุนแก่สหรัฐ รวมทั้งการซื้อพันธบัตร ซึ่งช่วยสนับสนุนเงินทุนแก่สหรัฐ เพื่อนำมาลดยอดขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นในสหรัฐ

โร้ช กล่าวต่อไปว่า มีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจจีน สหรัฐ และเศรษฐกิจโลก จะเผชิญกับผลกระทบอย่างมาก นับเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

"จีนและสหรัฐควรจะเจรจาต่อรองกัน และลงนามในสนธิสัญญาการลงทุนแบบทวิภาคี ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนในวงกว้างมากขึ้นผ่านทางบริษัทข้ามชาติของสหรัฐและจีน" โร้ชกล่าว

"สำหรับจีนนั้นจะเป็นตลาดที่มีการขยายตัวอย่างมีพลวัตมากที่สุดในโลกในช่วง 50 ปีข้างหน้า ประเทศต่างๆควรจะสนับสนุนแนวทางการเติบโตด้วยการปรับปรุงแนวทางการทำธุรกิจในจีน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่จีนเปิดกว้างมากขึ้น และผมคิดว่า จีนเองก็มุ่งมั่นที่จะเดินไปในทิศทางนี้มากขึ้นอยู่แล้ว" โร้ชกล่าว

โดย ซู ซิงตัง, หยาง จีหลง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ