Xinhua's Interview: ผู้เชี่ยวชาญชี้ตลาดจีนช่วยอุ้ม GM รอดพ้นจากวิกฤตการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 12, 2019 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเชอร์ลีย์ ยัง ที่ปรึกษาอาวุโสของเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐเปิดเผยว่า GM จะเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการรอดพ้นจากวิกฤตการเงินซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2552 หาก GM ไม่ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสตรี คอร์ปอเรชั่น (SAIC) ของจีน

นางยัง วัย 84 ปีกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ความสัมพันธ์เชิงบวก" กับ SAIC นั้น มีความสำคัญต่อการช่วยให้ GM อยู่รอดในช่วงวิกฤตการณ์เมื่อ GM ได้ถูกบังคับให้ต้องยื่นฟ้องล้มละลาย

ทั้งนี้ นางยังเป็นผู้ร่วมนำ GM เข้าสู่ตลาดจีนในช่วงทศวรรษ 1990

นางยังกล่าวว่า "ไม่เพียงแต่ยอดขายในจีนของ GM จะเป็นสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดสำหรับอนาคตเท่านั้น แต่ SAIC ยังช่วยจัดหาเงินกู้ให้กับ GM ซึ่งฟื้นตัวขึ้นได้จากภาวะล้มละลาย

นางยังระบุว่า บริษัทร่วมทุน GM-SAIC SGM (Shanghai GM) มูลค่า 1.57 พันล้านดอลลาร์ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสหรัฐและจีนรายใหญ่ที่สุดเมื่อจัดตั้งขึ้นในวันที่ 25 มี.ค. 2540 ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันเป็นเวลาเกือบ 2 ปีกับบริษัทรถยนต์ระหว่างประเทศรายใหญ่ทั้งหมดนับตั้งแต่ปี 2538-2540 โดยท้ายที่สุดได้เหลือตัวเลือกเพียง 2 บริษัทของสหรัฐ ได้แก่ GM และฟอร์ด

คณะทำงานของ GM ในเวลาต่อมานั้น นำโดยนายแจ๊ค สมิธ ซีอีโอ และนายลู ฮิวจ์ส ประธานระหว่างประเทศ และนางยัง รองประธานฝ่ายพัฒนาการตลาดจีน และยังรวมถึงพนักงาน GM จำนวนมากที่เป็นชาวจีน

ทั้งนี้ นางยังเป็นบุตรสาวของนักการทูตจีน โดยเกิดในนครเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 1935 แต่เติบโตอยู่ในสหรัฐ

นางยังกล่าวว่า สถานการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นรากฐานของความสำเร็จ และต้องอาศัยการพิจารณาเป้าหมายของแต่ละฝ่าย

"เมื่อมองย้อนกลับไป กุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จของเรานั้น ได้แก่กลยุทธ์ที่จะให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนที่แท้จริง บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ความเอาใจใส่ทางด้านวัฒนธรรม และความมุ่งมั่นที่จะหาทางออกที่เป็นประโยชน์สำหรับสองฝ่าย" นางยังกล่าว

นางยังระบุว่า กลยุทธ์ของ GM เปลี่ยนจากการให้ความสำคัญอย่างเดียวกับสิ่งที่ GM ต้องการ ไปเป็นการทำความเข้าใจกับสิ่งที่ฝ่ายจีนกำลังมองหา ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงแต่เป็นบริษัทรถยนต์ที่สามารถทำกำไรเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ทันสมัย การแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันและทางออกที่เป็นผลดีสำหรับสองฝ่าย

"ทีมงานของเราได้ใช้เวลาและความพยายามเพื่อที่จะเข้าใจมุมมองและวัฒนธรรมของจีน" นางยังกล่าว

ยกตัวอย่างเช่น การเอาใจใส่ทางด้านวัฒนธรรมนั้น นางยังและเพื่อนร่วมงานของเธอได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร และการรับประทานอาหารค่ำด้วยกันในสังคมจีน และพวกเขาได้หาทางเสริฟอาหารจีนในการประชุมเรื่องงานกับหุ้นส่วนจากจีนซึ่งไม่ชอบอาหารประเภทพิซซ่าและแฮมเบอร์เกอร์

อย่างไรก็ตาม นางยังกล่าวว่า ไม่ใช่งานง่ายในเขตชานเมืองของดีทรอยต์ในเวลานั้น การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ที่เราเรียนรู้นี้เป็นกุญแจสำหรับชัยชนะของเรา

นางยังกล่าวว่า การเป็นหุ้นส่วนของ SGM ประสบความสำเร็จจากการยึดถือทัศนคติด้านความเคารพซึ่งกันและกัน ความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมของจีน และการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในทุกระดับของการร่วมทุนนับตั้งแต่เริ่มต้น

"ดิฉันเชื่อว่า นี่เป็นแหล่งของความสำเร็จในระยะยาวของการร่วมทุน" นางยังกล่าว

นอกจากนี้ นางยังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพิจารณาจากความสำคัญของตลาดจีนสำหรับ GM ในวันนี้ กลยุทธ์ในอนาคตของ GM และการปรับโครงสร้างในปัจจุบันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแผนการด้านรถยนต์ในอนาคตของจีน

"สิ่งนี้รวมถึงการพิจารณาที่สำคัญเกี่ยวกับนโยบายยานยนต์ในอนาคตของจีน รวมถึงการลดใช้เครื่องยนต์เบนซิน และเพิ่มการการขนส่งระบบไฟฟ้าและแบบไร้คนขับ" เธอกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ