Analysis: ย้อนรอย 1 ปียูเครนตกเป็นเหยื่อเกมชิงอำนาจของรัสเซีย-ชาติตะวันตก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 25, 2015 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับเป็นเวลา 1 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงอำนาจครั้งใหญ่ในยูเครนซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตอันร้ายแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่สถานการณ์ในยูเครนก็ยังคงอยู่บนทางแยก

ยูเครนแทบไม่อาจควบคุมชะตาของประเทศได้ หลังตกเป็นเหยื่อในเกมแย่งอำนาจที่เลวร้ายที่สุดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุด

หลังการที่ขับประธานาธิบดีวิคตอร์ ยานูโควิคลงจากตำแหน่งแล้ว ความร่วมมือระหว่างไครเมียและรัสเซียในเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว เริ่มแยกยูเครนออกจากกัน ขณะที่สงครามยืดเยื้อระหว่างกองทัพรัฐบาลยูเครน และกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนในทางตะวันออกของภูมิภาคดอนบาส ได้คร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 5,300 ราย และส่งผลให้คน 1.5 ล้านคนต้องอพยพย้ายที่อยู่

ความหวังที่ข้อตกลง “มินสค์ ฉบับที่ 2" เมื่อวันที่ 12 ก.พ. จะบรรลุผลนั้นแสนรางเลือน หลังการประชุมผู้นำยูเครน รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งส่งผลให้ข้อตกลงหยุดยิงที่มีการเห็นพ้องกันเมื่อ 5 เดือนก่อนหน้านี้ ณ เมืองมินสค์ พังทลายอย่างรวดเร็ว อิกอร์ โครอตเชนโก บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร The National Defense ของรัสเซียเปิดเผยกับซินหัวว่า "ไม่มีทางรับประกันได้ว่าข้อตกลงใหม่จะคงอยู่ยาวนาน เพราะขอบเขตข้อตกลงบางอย่างเป็นแบบเดียวกับข้อตกลงเมื่อเดือนก.ย."

ยูเครนซึ่งอยู่ในฐานะสมาชิกหลักของอดีตสหภาพโซเวียตนั้น มีความสำคัญต่อรัสเซียทั้งในทางทหารและทางเศรษฐกิจ และภูมิภาคตะวันออกของยูเครนที่ใช้ภาษารัสเซียนั้น อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียในทางประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้สนับสนุนยุโรปซึ่งมีอำนาจในทางตะวันตกของยูเครน แสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้เป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อความมั่นคงแห่งชาติ

ข้อตกลงมินสค์ฉบับใหม่ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี และประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศสเป็นตัวแทนจัดการ ได้จุดประกายความหวังว่าจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของวิกฤต เนื่องจากภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ฝ่ายที่มีข้อพิพาทได้ทำการแลกเปลี่ยนตัวโทษสงครามในวันเสาร์ และกำลังเตรียมถอนอาวุธหนักออกจากพื้นที่แนวหน้าในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ในขณะที่ผู้นำชาติยุโรปทั้งสองได้เรียกร้องให้ใช้แนวทางแก้ปัญหาทางการเมืองสำหรับวิกฤตยูเครนหลายครั้ง แต่ทางสหรัฐกลับข่มขู่ว่าจะสนับสนุนอาวุธหนักให้กองทัพยูเครน และใช้มาตรการคว่ำบาตรใหม่ต่อรัสเซีย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจรัสเซียกำลังสั่นคลอน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรจากยุโรปและสหรัฐ รวมถึงราคาน้ำมันที่ร่วงหนัก

การแบ่งฝ่ายท่ามกลางพันธมิตรชาติตะวันตก เน้นย้ำถึงความต้องการที่แตกต่างกันเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน

สหรัฐอาจจะเป็นผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว หากวิกฤตดังกล่าวยืดเยื้อหรือย่ำแย่ลง ขณะที่พันธมิตรยุโรปอาจพยายามป้องกันไม่ให้ไฟสงครามลุกลามในสนามของเพื่อนบ้าน

แม้ข้อตกลงหยุดยิงที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ได้ผ่านพ้นไป 1 สัปดาห์ แต่การปะทะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในทางตะวันออกของยูเครน ... เช่นเดียวกับเกมแห่งอำนาจที่ดำเนินต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ