Analysis: จับตาแนวโน้มกรีซตีตัวออกห่าง EU, โผซบรัสเซีย-สหรัฐเพื่อแก้วิกฤตหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 9, 2015 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซิปราสของกรีซ ได้เริ่มเดินทางเยือนรัสเซียเมื่อวานนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านั้น นายยานิส วารูฟากิส รมว.คลังกรีซ ได้เดินทางเยือนสหรัฐในช่วงวันอีสเตอร์

การเดินทางเยือนดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่แทบไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างกรีซและบรรดาเจ้าหนี้ในประเด็นเกี่ยวกับการคลี่คลายวิกฤตหนี้กรีซ ซึ่งได้จุดปะทุบรรยากาศของความขัดแย้ง การผิดนัดชำระหนี้ของกรีซในเดือนเม.ย.นี้ และผลพวงของการที่กรีซออกจากยูโรโซน

ดังนั้น ประเด็นคำถามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็คือ กรีซจะหันไปขอความช่วยเหลือจากกรีซและสหรัฐเพื่อคลี่คลายวิกฤตหนี้หรือไม่? ประเทศต่างๆในยุโรปมีเหตุผลที่จะวิตกหรือไม่ว่ากรีซอาจจะตีตัวออกห่างจากสหภาพยุโรป (EU) และพยายามหันไปเลือกระดมทุนและหาแรงสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ?

ในช่วงที่ผ่านมา บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลกรีซได้ออกมาสร้างความมั่นใจหลายครั้งแล้วว่ากรีซจะไม่เปลี่ยนแนวทางและเปลี่ยนแปลงกลุ่มพันธมิตรอย่างรวดเร็ว นายนิคอส คอทซิอาส แต่กรีซจะเดินหน้านโยบายต่างประเทศที่หลากหลายแง่มุม ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย

ก่อนการพบปะกันระหว่างนายกฯกรีซและประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย นายปานากิโอติส ลาฟาซานิส รมว.พลังงาน สิ่งแวดล้อมและการปรับโครงสร้างของกรีซ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ของกรีซฉบับหนึ่งว่า ข้อตกลงระหว่างกรีซและรัสเซียสำหรับการขยายท่อส่งก๊าซธรรมชาติรัสเซียในกรีซนั้น อาจจะช่วยยกระดับสถานภาพของกรีซในการหารือกับบรรดาเจ้าหนี้ยุโรป

ทางด้านนายปานอส แคมเมนอส รมว.กลาโหมของกรีซ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์กรีซว่า ในกรณีที่การหารือกับเจ้าหนี้ EU เผชิญทางตัน รัฐบาลกรีซก็อาจจะทำข้อตกลงกับประเทศใดก็ได้ที่สามารถทำได้ โดยชี้ไปที่สหรัฐ รัสเซีย จีน อินเดียและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง

หลังการประชุมกันหลายครั้งเมื่อวันอาทิตย์และวันจันทร์ที่ผ่านมากับนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐและนางแคโรไลน์ แอทคินสัน หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของปธน.บารัค โอบามาของสหรัฐ นายวารูฟากิสกล่าวว่า คณะผู้เจรจาของเขาระบุว่าฝ่ายบริหารของปธน.โอบามาได้ให้ความสำคัญต่อข้อตกลงที่น่าเชื่อถือระหว่างกรีซและกลุ่มประเทศพันธมิตร และต่อการดำรงอยู่ของยูโรโซน

บรรดานักวิเคราะห์ทางการเมืองในกรีซมองว่า การสานสัมพันธ์ระหว่างกรีซและรัสเซีย หรือประเทศอื่นๆ ไม่น่าจะเป็นสัญญาณเตือนสำหรับประเทศในยุโรป

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นเพียงความพยายามที่จะให้รัสเซียหรือประเทศอื่นๆสร้างแรงกดดันต่อประเทศในยุโรป เพื่อให้มีการจัดสรรเงินช่วยเหลือที่มีความสำคัญแก่กรีซในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า

แม้กรีซมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า แต่คณะผู้เจรจาทั้งหมดต่างเน้นย้ำว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ของกรีซด้วยวิธีใดก็ตามจะมาจากภายในกรอบการทำงานในปัจจุบันและยูโรโซน โดยนักวิเคราะห์คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอื่นใดในเร็วๆนี้

นายธานอส โดคอส ผู้บริหาร Hellenic Foundation for European and Foreign Policy (ELIAMEP) กล่าวถึงการเดินทางเยือนรัสเซียของนายซิปราสว่า “นายกฯซิปราสต้องการส่งสัญญาณไปยังประเทศพันธมิตรของกรีซในยุโรปว่ากรีซ ‘ยังคงมีความสำคัญ’ ในกิจการระหว่างประเทศ และกรีซอาจจะมีบทบาทในการช่วยเชื่อมต่อระหว่างรัสเซียและ EU"

นายโดคอสกล่าวว่า แม้รัสเซียอาจจะพยายาม “ดึงดูด" กรีซด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การพิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรสินค้าเกษตรของกรีซ แต่ความเป็นไปได้ที่กรีซจะเข้าสู่วงโคจรของรัสเซียหรือมีการเปลี่ยนแปลงด้านปัจจัยพื้นฐานอื่นใดในแนวทางเชิงกลยุทธ์นั้น แทบจะเป็นศูนย์ ตราบใดที่กรีซยังคงเป็นสมาชิกของยุโรปและสถาบันข้ามชาติต่างๆอย่างเต็มตัว

ด้านนายจอร์จ ฮัทซิเอียนนู บรรณาธิการของเว็บไซต์ EIRANEWS.COM ซึ่งได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านสื่อประจำสถานทูตกรีซในอังกฤษ รัสเซีย สาธารณรัฐเชกและคณะทำงานด้านการทูตกรีซประจำสหประชาชาติในนิวยอร์กมาเป็นเวลานานนับ 3 ทศวรรษ ก็แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกับนายโดคอส

เขาระบุว่า ในภูมิภาคยุโรปที่มีความเป็นประชาธิปไตย ทุกประเทศสมาชิกของ EU ควรมีเสรีภาพในการส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศเพื่อยกระดับภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม โดยนายฮัทซิเอียนนูกล่าวว่า กรีซไม่ได้เผชิญความเสี่ยงที่จะถูกโดดเดี่ยว ซึ่งเหตุผลหลักก็คือความสำคัญในด้านภูมิศาสตร์การเมือง

“เจตนารมณ์ของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซิปราส ในการเดินหน้านโยบายที่ชาญฉลาด มีความสมดุลและสันติ จะแสดงบทบาทที่เด็ดเดี่ยวในการหลุดรอดจากบ่วงทางการเงิน ดังนั้น กรีซจึงทำหน้าที่เหมือนสื่อกลางที่จะเชื่อมโยง EU เข้ากับชาติมหาอำนาจต่างๆ เช่น รัสเซีย จีนและสหรัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และเป็นนโยบายที่ควรค่าในการสานต่อ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ