Analysis: "โอบามา"เปิดทำเนียบขาวต้อนรับนายกฯอินเดีย ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นกลยุทธ์เจรจาเหนือชั้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 10, 2016 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐ บารัค โอบามา และนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดียนั้น ล้วนแฝงไปด้วยชั้นเชิงทางกลยุทธ์ โดยนายโมดีได้เดินทางเยือนสหรัฐเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เขาเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปีพ.ศ. 2557

สำหรับโอบามานั้น การพัฒนาความสันพันธ์ระหว่างสหรัฐและอินเดียนับเป็นวิธีที่จะช่วยให้ทักษะทางการทูตของเขาแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ขณะที่โอบามาเหลือเวลาเพียง 7 เดือนก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในด้านของโมดี การเดินทางเยือนสหรัฐนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะมองหาแรงผลักดันใหม่เพื่อสานสัมพันธ์กับสหรัฐ

ทำเนียบขาวยังได้ยืนยันในสิ่งที่ให้คำมั่นสัญญาณาไว้ว่าจะให้ความร่วมมือในการลดโลกร้อน หรือความตกลงปารีส โดยเร็วในปีนี้ ในขณะที่อินเดียก็เริ่มดำเนินการเพื่อที่จะบรรลุในจุดมุ่งหมายเดียวกัน

ทำเนียบขาวระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า สหรัฐและอินเดียตระหนักถึงกับภัยคุกคามของภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้ ผู้นำทั้งสองจึงให้คำมั่นสัญญาที่จะทำให้ความตกลงปารีสมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

ส่วนแถลงการณ์อีกฉบับนั้นกล่าวว่า ผู้นำทั้งสองขานรับข่าวการเตรียมงานสร้างเครื่องปฏิกรนิวเคลียร์จำนวน 6 เครื่องในอินเดีย ซึ่งสร้างโดยบริษัท เวสติ้งเฮ้าส์ ของสหรัฐ

เมื่อการสร้างเครื่องปฏิกรนิวเคลียร์เสร็จสิ้นแล้วนั้น โครงการนี้จะกลายมาเป็นหนึ่งในการพัฒนานิวเคลียร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทั้งนี้เพื่อที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมมือด้านนิวเคลียร์พลเรือนระหว่างสหรัฐและอินเดีย

ทั้งสองประเทศยังให้คำมั่นสัญญาที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ด้านกลาโหมให้มั่นคงและมีเสถียรภาพ อีกทั้งยังตกลงที่จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีให้มากเท่ากับที่แต่ละฝ่ายแลกเปลี่ยนกับพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของตัวเอง

ในแง่ของข้อตกลงด้านพลาธิการทางทหาร ซึ่งจะช่วยให้กองกำลังทหารของสองประเทศสามารถใช้ฐานทัพบก ฐานทัพอากาศ และฐานทัพเรือของอีกฝ่ายได้อย่างชอบธรรมนั้น ทางการสหรัฐกล่าวว่าทั้งสองประเทศจะลงนามในข้อตกลงดังกล่าวในอีกไม่ช้า

ทั้งนี้ โอบามายังกล่าวอีกว่า เขาและโมดีได้หารือกันในประเด็นที่ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการสนับสนุนการจ้างงาน การลงทุน และการค้าขาย ซึ่งรวมถึงการสร้างโอกาศที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศ

การเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติต่อโมดี

โมดีเดินทางถึงสหรัฐเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งนี่คือภารกิจเยือนสหรัฐของผู้นำอินเดียเป็นครั้งที่ 4 และนับเป็นครั้งที่ 7 ที่โมดีและโอบามาได้พบปะพูดคุยกัน นับตั้งแต่โมดีเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดียเมื่อ 2 ปีที่ก่อน

นายแอชลี่ย์ เทลลิส ผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดียจากกองทุนการกุศลคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ในวอชิงตัน กล่าวแสดงความเห็นว่า การพบปะกันในหลายโอกาสระหว่างโอบามาและผู้นำอินเดีย ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นพันธมิตรกันมาก่อน นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี

ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อหลายปีก่อน โมดีถูกสั่งห้ามเข้าสหรัฐเนื่องจากเขามีบทบาทสำคัญในเหตุจลาจลต่อต้านมุสลิมในรัฐทางตะวันตกของอินเดียในปีพ.ศ. 2547 ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการระดับสูง ถึงแม้ว่าโมดีจะยืนกรานว่าเขาไม่ได้กระทำความผิดแต่อย่างใด

แต่ในขณะนี้ ทหารกองเกียรติยศของสหรัฐกลับตั้งแถวต้อนรับโมดีเมื่อเขาเดินทางมาถึงประตูสู่โลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา เพื่อพบปะพูดคุยกับโอบามา

นอกจากนี้ โมดียังได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่รัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 ที่นายกรัฐมนตรีอินเดียมีโอกาสได้กล่าวสุนทรพจน์ในสหรัฐ และนับว่าเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 10 ปีด้วย

การเปลี่ยนแปลงในแง่ของการปฏิบัติต่อโมดีจากสหรัฐนั้น ถูกมองจากหลายฝ่ายว่าเป็นผลลัพธ์จากการสร้างสัมพันธ์อันดีงามระหว่างอินเดียและสหรัฐ หลังจากที่ตกอยู่ในสภาพขึ้นๆลงๆในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สหรัฐ-อินเดีย ไม่ใช่ทั้งหุ้นเชิงกลยุทธ์ และไม่ใช่พันธมิตร

นายจิน ช่านหลง รองอธิการบดีคณะการศึกษาระหว่างประเทศ แห่งมหาลัยเรนมินเผยว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับอินเดียในแง่ของผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ ศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ และอุดมการณ์ซึ่งเป็นผลดีต่อสหรัฐ โดยเขายังกล่าวเสริมอีกว่า การสร้างสัมพันธ์กับอินเดียจะช่วยส่งเสริมให้สหรัฐมีอำนาจถ่วงดุลกับเอเชีย-แปซิฟิค

นายจินกล่าวว่า อินเดียยินดีที่จะสร้างสัมพันธ์อันแนบแน่นกับอเมริกาโดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การที่ทั้งสองประเทศจะกลายมาเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่สุด ตามที่โอบามาได้กล่าวเมื่อครั้งที่มาเยือนอินเดียในปีที่ผ่านมานั้น ยังคงเป็นหนทางที่ยาวไกล

รอยเตอร์ระบุว่า ประวัติศาสตร์การถูกล่าอาณานิคม รวมถึงการตั้งตัวเป็นประเทศซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนั้น ทำให้อินเดียระแวดระวังตัวกับความสัมพันธ์สหรัฐสร้างขึ้น

นิทิน โกห์เฮล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Bharat Shakti กล่าวว่า ทั้งอินเดียและสหรัฐต่างก็ไม่ใช่หุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์หรือพันธมิตร พร้อมกับกล่าวว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นข้อตกลงในระยะยาว แต่การที่จะเรียกทั้งสองว่าเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์นั้น อาจเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป

นายเจ้า ก่านเฉิง ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอินเดียจากสถาบันการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า แนวความคิดของสหรัฐและอินเดียไม่ได้ลงรอยกันอย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่อินเดียยังคงดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระและวางตัวเป็นกลางเมื่อต้องรับมือกับประเทศมหาอำนาจ

นอกจากนี้ นายเจ้ายังกล่าวว่า โมดีเป็นผู้นำที่มีแนวคิดชาตินิยม ฉะนั้นเขาจะไม่หลับหูหลับตาเดินตามเกมของสหรัฐอย่างแน่นอน สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ