Analysis: นักวิเคราะห์ชี้อิตาลีส่อแววไร้ตัวแทนนั่งคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรปชุดใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 30, 2019 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บรรดานักวิเคราะห์มองว่า อิตาลีกำลังเผชิญกับแนวโน้มที่จะไม่มีตัวแทนของประเทศนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นครั้งแรก

แต่ในขณะที่สื่อของอิตาลีรายงานถึงความเป็นได้ดังกล่าว บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า อิตาลีควรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ทางการเงินของประธาน ECB คนใหม่ มากกว่าสัญชาติของคณะกรรมการ

ECB จัดตั้งขึ้นในปี 2541 เพื่อปูทางสำหรับการออกสกุลเงินยูโร ซึ่งมีการใช้หมุนเวียนเป็นครั้งแรกในปี 2545

อิตาลีมีกรรมการทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ECB มาจนถึงปี 2554 เมื่อนายมาริโอ ดรากี นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียน และอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธาน ECB โดยวาระการดำรงตำแหน่งของนายดรากีจะสิ้นสุดลงในเดือนต.ค.นี้

สำหรับประธาน ECB คนต่อไปนั้น จะไม่สามารถมาจากประเทศเดิมที่มีตัวแทนที่เคยดำรงตำแหน่งได้ ส่วนนายหลุยส์ เดอ กินดอส รองประธาน ECB คนปัจจุบัน จะดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงปี 2569 ซึ่งเท่ากับเป็นการกันอิตาลีสำหรับตำแหน่ง 2 ตำแหน่งในคณะกรรมการ ECB ซึ่งประกอบด้วยกรรมการทั้งหมด 6 คน

เยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งเป็นสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยูโรโซนนั้น มีกรรมการถาวรในคณะกรรมการ ECB และวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการอีก 2 ตำแหน่งจะสิ้นสุดลงในปี 2563 และ 2565 ตามลำดับ นั่นหมายความว่า โอกาสเดียวที่อิตาลีจะได้เก้าอี้ในคณะกรรมการ ECB ก็ต่อเมื่อประเทศสมาชิกยูโรโซนเลือกประธานหรือรองประธานที่เป็นชาวเยอรมันหรือฝรั่งเศส ซึ่งจะทำให้ตำแหน่งกรรมการถาวรของเยอรมนีและฝรั่งเศสว่างลง

คำถามเกี่ยวกับกรรมการ ECB เกิดขึ้น ในขณะที่อิตาลีเผชิญกับสถานการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซาและหนี้สินของรัฐบาลมูลค่ารวม 2.36 ล้านล้านยูโร (2.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในสหภาพยุโรป (EU) และเทียบเท่ากับ 132% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอิตาลี

นายฟรานเซสโก ดาเวรี ผู้อำนวยการโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยบ็อกโกนีในมิลาน ระบุว่า การมีกรรมการชาวอิตาลีอยู่ในคณะกรรมการของ ECB นั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของอิตาลีแต่อย่างใด

นายดาเวรีเปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "ตัวแทนในคณะกรรมการ ECB ไม่ได้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประเทศใดเป็นการเฉพาะเจาะจง"

"ไม่ว่าพวกเขาจะมีสัญชาติใด กรรมการก็จะต้องกำหนดนโยบายการเงินที่จะเป็นประโยชน์ต่อยูโรโซนทั้งหมด"

อิตาลีได้ประโยชน์จากนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ ซึ่งเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนเพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของนายดรากี แต่นายดาเวรีย้ำว่า นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศที่ใช้เงินยูโรทั้งหมด 19 ประเทศ

นายรูจีโร เบอร์เทลี ศาสตราจารย์ด้านการธนาคารของมหาวิทยาลัยเซียนาระบุในการให้สัมภาษณ์ว่า "มีแนวโน้มอย่างมากว่า ใครก็ตามที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งของนายดรากีในเวลานั้น ก็จะมีข้อสรุปเดียวกัน และมีการตัดสินใจด้านนโยบายที่คล้ายกัน

ในบรรดาผู้สมัครตัวเก็งที่จะขึ้นมาแทนที่นายดรากีนั้น นายเยนส์ ไวด์แมนน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของนายดรากีในอดีต

สื่อรายงานว่า สำหรับผู้สมัครคนอื่นๆ นั้น ได้แก่ ผู้สมัครจากฝรั่งเศส 2 ราย ฟินแลนด์ 2 ราย และฮอลแลนด์ 1 ราย โดยทั้งหมดมีแนวโน้มที่จะสานต่อนโยบายทั่วไปของนายดรากี หากได้รับเลือกเป็นประธาน ECB คนต่อไป

นายแอนเดรีย เทอร์ซี นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแฟรงคลินในสวิตเซอร์แลนด์เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อจากนายดรากี เขาจะไม่มีทางเลือก นอกจากสานต่อแนวทางเดียวกัน"

อิตาลีและเยอรมนีเป็นเพียงสองประเทศที่มีกรรมการใน ECB มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้ง ECB โดยตำแหน่งกรรมการใน ECB ของฝรั่งเศสว่างเว้นไป 1 ปีจากปี 2553-2554 เมื่อนายฌอง-คล็อด ทริเชต์ ลาออกจากตำแหน่งประธาน ECB ก่อนที่นายดรากีจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน

ส่วนลักเซมเบิร์กและเบลเยียมครองเก้าอี้กรรมการแบบถาวร 2 ตำแหน่งสุดท้ายในคณะกรรมการชุดปัจจุบัน ซึ่งมีนายดรากีเป็นประธาน และนายกินดอส เป็นรองประธาน ขณะที่ตำแหน่งกรรมการถาวรเป็นของเยอรมนีและฝรั่งเศส

เอริค เจ ไลแมน

สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ