Analysis: นักเศรษฐศาสตร์เตือนตลาดอาจเชื่อมั่นมากเกินไปว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 19, 2019 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บรรดานักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ตลาดต่างๆ อาจจะปรับตัวรับมากเกินไปแล้วเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และ อาจจะเผชิญกับความผิดหวังครั้งใหญ่ตามมา

นายสตีเฟน กัลลาเกอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโซซิเอเต เจนเนอราล เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ตลาดดูเหมือนจะคิดว่าเฟดสามารถช่วยได้ในวันนี้ โดยการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดลงเพียงไม่กี่ครั้ง ก็จะช่วยหนุนตลาดหุ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผมไม่แน่ใจว่า นั่นจะเกิดขึ้นจริง"

นายกัลลาเกอร์กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดได้ปรับตัวรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดลงราว 1.00% ในช่วงต้นปี 2563 และนั่นเป็นการคาดการณ์ที่ค่อนข้างเป็นไปในเชิงรุก

"ผมคิดว่า ตลาดมีโอกาสที่จะเกิดความผิดหวังอย่างมากตามมา" เขากล่าว

นายกัลลาเกอร์กล่าวเสริมว่า เฟดอาจมีความตั้งใจที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจะยังไม่กระตุ้นให้เฟดเริ่มต้นวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างเต็มที่

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดจัดประชุมในวันที่ 18-19 มิ.ย.นี้ และ นักลงทุนจะพิจารณาอย่างระมัดระวังเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไป

FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า ตลาดคาดว่า มีโอกาส 20.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. และคาดว่ามีโอกาสเพียง 17% ที่อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับเดิมในเดือนก.ค.

นายกัลลาเกอร์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะพูดถึงการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อเป็นการรับประกันในการประชุมครั้งล่าสุดนี้ แต่หากเฟดไม่เห็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น เฟดก็จะไม่ระบุว่า เฟดจะดำเนินการอย่างไรเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นายเฮนรี หวง ศาสตราจารย์ของโรงเรียนธุรกิจเอสวาย ซิมส์แห่งมหาวิทยาลัยเยชิวา กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น จึงไม่มีโอกาสมากนัก ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

ในการหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา นายหวงระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ใกล้ช่วงปลายของการขยายตัว และมีความเสี่ยงมากขึ้นในขณะนี้ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมตลาดจึงเห็นตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว และเป็นการส่งสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี แตะระดับต่ำสุดที่ 2.08% เมื่อวันจันทร์ ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 เดือนซึ่งอยู่ที่ 2.23%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ