นักลงทุนพากันเลื่อนคาดการณ์ต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้เป็นเดือนก.ค. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนมิ.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาดในวันนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม กันยายน ตุลาคม และธันวาคม
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนพ.ค.และมิ.ย.
นอกจากนี้ FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนก.ค., ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเดือนก.ย., ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.50-3.75% ในการประชุมเดือนต.ค. และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.25-3.50% ในการประชุมเดือนธ.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 177,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 138,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค.
ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.2% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนมี.ค.เป็นเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 228,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 167,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ขณะที่ภาครัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 10,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.9%
เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.6%