นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตาเกมอำนาจระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างใกล้ชิด หลังมีรายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าปลด เจอโรม พาวเวล ออกจากตำแหน่ง ซึ่งข่าวดังกล่าวไม่เพียงสั่นสะเทือนตลาดการเงินทันที แต่หากเกิดขึ้นจริง เรื่องนี้ยังอาจนำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมายครั้งประวัติศาสตร์ที่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ต้องเข้ามาตัดสิน
สถานการณ์ความไม่แน่นอนนี้ปะทุขึ้นเมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) หลังมีกระแสข่าวว่าทรัมป์เตรียมปลดพาวเวล เนื่องจากไม่พอใจที่เฟดไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยตามที่เขาเรียกร้อง แม้ว่าทรัมป์จะออกมาปฏิเสธในเวลาต่อมา โดยระบุว่าการปลดพาวเวลเป็นเรื่องที่ "แทบเป็นไปไม่ได้" เว้นแต่จะพบว่ามีการทุจริต
ผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจ
เพียง 30 นาทีหลังมีรายงานข่าวจากบลูมเบิร์กว่าทรัมป์อาจปลดพาวเวล ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงทันที 1% ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีปรับขึ้น 0.10% และดัชนีดอลลาร์สปอตร่วงลง 1.2%
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนแสดงความเห็นว่า หากทรัมป์ปลดประธานเฟดจริง จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
การต่อสู้ทางกฎหมาย
ทรัมป์เพ่งเล็งไปที่ค่าใช้จ่ายที่บานปลายจากการปรับปรุงสำนักงานใหญ่ของเฟด โดยเชื่อว่านี่อาจเป็นเหตุผลให้ปลดพาวเวลได้ตามกฎหมายมาตรา 10 ของกฎหมายธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่าสมาชิกคณะกรรมการเฟด รวมถึงประธานเฟด สามารถถูกถอดถอนได้ "ด้วยเหตุอันควร" อย่างไรก็ตาม การที่งบประมาณบานปลายจะถือเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ศาลตีความ
ทั้งนี้ หากทรัมป์ตัดสินใจปลดพาวเวล ผลทางกฎหมายจะเกิดขึ้นทันที แต่พาวเวลสามารถยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตัน พร้อมขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้กลับมาดำรงตำแหน่งระหว่างการพิจารณาคดี ศาลอาจจัดการไต่สวนเพื่อพิจารณาว่า พาวเวลและเฟดจะได้รับความเสียหายอย่างไม่อาจแก้ไขได้หรือไม่ หากสถานะเดิมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคำตัดสินเกี่ยวกับคำสั่งคุ้มครองนี้สำคัญมาก เพราะคดีจริงอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือมากกว่านั้น
- หากศาลปฏิเสธคำร้อง: พาวเวลจะพ้นจากตำแหน่ง และฟิลิป เจฟเฟอร์สัน รองประธานเฟด ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในปี 2565 จะทำหน้าที่แทนชั่วคราว
- หากศาลอนุมัติคำร้อง: พาวเวลจะดำรงตำแหน่งต่อไปได้ในระหว่างการพิจารณาคดี โดยทั้งสองฝ่ายสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ และอาจนำไปสู่การตัดสินใจของศาลสูงสุด (Supreme Court) ซึ่งโดยปกติแล้ว คำตัดสินของศาลสูงสุดเกี่ยวกับคำสั่งคุ้มครองมักถือเป็นข้อยุติ โอกาสที่ศาลสูงสุดจะกลับคำตัดสินนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก
ผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ย
การถอดถอนประธานเฟดไม่ได้หมายความว่าทรัมป์จะสามารถกดดันให้เฟดลดดอกเบี้ยได้ทันที เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งมีสมาชิก 19 คน และ 12 คนมีสิทธิออกเสียง แม้ตามปกติประธานเฟดจะดำรงตำแหน่งประธานของ FOMC ด้วย แต่คณะกรรมการสามารถเลือกบุคคลอื่นเป็นประธานได้ ซึ่งประธานเฟดคนใหม่ก็จะต้องพยายามโน้มน้าวสมาชิกส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับการปรับลดดอกเบี้ย
ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ
โรเจอร์ อัลต์แมน ผู้ก่อตั้ง Evercore บริษัทที่ปรึกษาวาณิชธนกิจ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน กล่าวกับ CNBC ว่า การที่ประธานาธิบดีพยายามปลดประธานเฟดนั้นเป็น "ความคิดที่แย่ที่สุด" พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างประเทศที่มีธนาคารกลางอิสระอย่างสหรัฐฯ กับประเทศที่ธนาคารกลางถูกแทรกแซงทางการเมือง เช่น ตุรกีและอาร์เจนตินา ซึ่งเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง
อัลต์แมนยังเชื่อว่า ประธานพาวเวลจะไม่ยอมลาออกตามคำขอ และท้ายที่สุดแล้ว เรื่องนี้จะต้องถูกตัดสินโดยศาล ซึ่งเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับนักวิเคราะห์จาก Wolfe Research
เหตุการณ์นี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนให้คุณค่า เพราะหากขาดความเป็นอิสระแล้ว ความน่าเชื่อถือของเฟดในการควบคุมเงินเฟ้อก็จะลดลง และความคาดหวังเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลก