In Focusมหากาพย์ QE กับความหวังกู้ซากเศรษฐกิจสหรัฐหลังชัตดาวน์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 30, 2013 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อดูเทรนด์ตลาดหุ้นสหรัฐที่เริ่มไต่สู่ช่วงขาขึ้นนับตั้งแต่กลางเดือนก.ย.เป็นต้นมา ก็พบว่า ความคาดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงเดินหน้าใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่อไป สาเหตุหนึ่งมาจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังอ่อนแรงกระปกกระเปลี้ย และอีกสาเหตุหนึ่งมาจากผลกระทบของเหตุการณ์ชัตดาวน์ อันเป็นผลพวงของการค้ำยันอำนาจทางการเมืองในสภาคองเกรส หรือ "ขนบของทุนนิยมเล่นพวก"

คงไม่เกินไปนักหากจะกล่าวว่า การตัดสินใจของเฟดกำลังกุมชะตากรรมของตลาดเงินทั่วโลกเอาไว้ในมือ โดยเฉพาะการตัดสินใจในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายในปีนี้ ดัชนีดาวโจนส์ และ S&P พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อคืนนี้ (29 ต.ค.) เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐได้จุดกระแสคาดการณ์ให้โหมกระพือยิ่งขึ้นว่า เฟดคงไม่แคล้วต้องเดินหน้าใช้ QE ต่อเป็นแน่ โดยเฉพาะตัวเลขจ้างงานเดือนก.ย.ที่เพิ่มขึ้นเพียง 148,000 ตำแหน่ง น้อยกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง และสดๆร้อนๆเมื่อคืนนี้ ยอดค้าปลีกที่เป็นเสมือนมาตรวัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหกเดือน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคร่วงลงอย่างหนักในเดือนต.ค.

ผลพวงด้านลบของเหตุการณ์ชัตดาวน์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีและบีบหัวใจรัฐบาลสหรัฐให้เต้นไม่เป็นจังหวะนั้น นับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่คาดว่า จะผลักดันให้เฟดต้องเดินหน้าใช้ QE ต่อไปด้วยเช่นกัน การชัตดาวน์ในสหรัฐเคยเกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีที่แล้วในปี 2539 ซึ่งรัฐบาลกลางสหรัฐต้องปิดหน่วยงานเป็นเวลา 21 วัน แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ 14-19 พ.ย. 2538 และ 16 ธ.ค. 2538 ถึง 6 ม.ค. 2539 นักเศรษฐศาสตร์ประจำรัฐสภาได้ประเมินว่า ความเสียหายของการชัตดาวน์ในครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจราว 1.4 พันล้านดอลลาร์ และด้วยเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551 การชัตดาวน์ในครั้งนั้นจึงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นไปกว่าในปี 2539 จึงไม่น่าแปลกใจที่เฟดจะต้องออกมาให้สัญญาณไม่ลด QE อย่างน้อยก็ภายในปีนี้

ความหวั่นวิตกว่า สหรัฐจะถูกกรีดแผลเป็นซ้ำรอยเดิม ทำให้นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ออกมาส่งสัญญาณแต่เนิ่นๆว่า เหตุการณ์ชัตดาวน์ในปี 2556 ทำให้โอกาสที่เฟดจะลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในการประชุมเดือนต.ค.นั้น ลดน้อยลง

แต่ไม่ใช่ว่าทุกฝ่ายจะเห็นด้วยกับการใช้ QE โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญที่เล็งเห็นถึงพิษภัยที่ซ่อนอยู่ในความหวานของมาตรการนี้ อัลแลน เมลท์เซอร์ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิสาหกิจแห่งสหรัฐอเมริกา เตือนว่า ผลกระทบของ QE คือจะทำให้มูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงอีกเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่แข่ง และจะทำให้ราคาทองคำ น้ำมัน และราคานำเข้าของสินค้าประเภทอื่นๆ พุ่งขึ้นอย่างสวนทางกับปัจจัยพื้นฐาน

ขณะที่เจมส์ ดอร์น นักวิเคราะห์ด้านนโยบายการเงินจากสถาบันคาโต ในนครวอชิงตัน กล่าวว่า การพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบไม่ใช่ยาวิเศษที่ใช้เยียวยาเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐได้ เศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับต่ำเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐาน ไม่ใช่เกิดจากการไม่ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน

ไม่เพียงแต่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แม้แต่นายมิตต์ รอมนี ขาใหญ่แห่งพรรครีพับลิกันก็เคยออกมาฟาดงวงฟาดงาใส่มาตรการ QE เชื่อว่า ผู้คนมากมายคงไม่ลืมวาทกรรมร้อนปรอทแตกของนายรอมนีย์ที่กล่าวในระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งหลังสุดว่า เขาจะ "ปลด" เบน เบอร์นันเก้ออกจากประธานเฟดทันทีหากเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ รอมนีย์กล่าวโทษว่านโยบายของเบอร์นันเก้คือการเพิ่มปริมาณเงินเขาสู่ระบบมากเกินไป ทั้งยังเป็นมาตรการที่สูญเปล่าและใช้ไม่ได้ผล" และหมัดเด็ดที่ชกแสกหน้าเบอร์นันเก้เข้าอย่างจังก็คือคำบริภาษจากนายรอมนีย์ที่ว่า เบอร์นันเก้เคยปฏิญาณว่าจะสานต่อเจตนารมณ์ของกรีนสแปนในการควบคุมเงินเฟ้อ แต่กลับพิมพ์เงินเข้าระบบจนทำให้สหรัฐตกอยู่ในบ่วงของเงินเฟ้อด้วยมือของตัวเอง

นับตั้งแต่ที่สหรัฐเผชิญวิกฤตซับไพรม์ซึ่งเป็นผลจากการที่สถาบันการเงินปล่อยกู้อย่างขาดความรอบคอบนั้น ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องขอเฟดเข้ามาโอบอุ้มระบบเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากการล่มสลาย ด้วยการพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลอย่างผิดจารีตของธนาคารกลาง เนื่องจากการพิมพ์ธนบัตรอย่างไม่อั้นนั้น แม้ว่าอาจจะไม่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทันที แต่ในระยะยาว จะส่งผลให้ตลาดทุนเกิดการบิดเบือนอย่างรุนแรง เพราะราคาหลักทรัพย์สูงเกินพื้นฐานเนื่องจากการเก็งกำไร

นอกจากนี้ ผลด้านลบที่เกิดจาก QE คือ เงินที่ไหลท่วมโลก ยังจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มกลับมาฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ โดยเฉพาะในปีหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายท่านต่างก็หวั่นว่าจะเป็นปีที่วงจรวิกฤตรอบใหม่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่สงครามพิมพ์ธนบัตรยังเป็นเกมที่ธนาคารกลางชาติใหญ่ของโลกดำเนินต่อไป

แม้รัฐบาลกลางสหรัฐสามารถฝ่าวิกฤตเพดานหนี้ไปได้อีกครั้ง แต่ก็เป็นเพียงแค่การซื้อเวลาไปถึงแค่วันที่ 7 ก.พ.ปีหน้าเท่านั้น ก็เท่ากับว่า ต้นปี 2557 ตลาดเงินและตลาดทุนมีโอกาสที่จะกลับมาตื่นตระหนกกันอีกรอบ และไม่ใช่แค่นั้น ต้นปีหน้ามีสหรัฐยังต้องเผชิญกับยาขมถึง 3 หม้อใหญ่ นั่นคือ เพดานหนี้ การชัตดาวน์รอบใหม่ และฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ขู่ไว้ล่วงหน้าว่าให้เวลาจนถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2557 ในการตัดสินใจว่าจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐหรือไม่ เนื่องจากสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้หากไม่มีการเพิ่มเพดานหนี้ได้ทันเวลาในช่วงเวลานั้น

... แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การคาดการณ์ในเวลานี้โน้มเอียงไปในทิศทางที่ว่า เฟดจะประกาศเดินหน้าใช้ QE ต่อในการประชุมวันนี้อย่างแน่นอน และคาดว่า อาจจะใช้ไปจนถึงปลายปีนี้ ...หากให้เดาใจเบอร์นันเก้ในเวลานี้ ก็ขอเดาว่า เบอร์นันเก้เลือกที่จะกอบกู้ซากเศรษฐกิจเอาไว้ก่อนด้วยการใช้ QE ต่อไป ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้ เจเน็ต เยลเลน หญิงเหล็กผู้ถูกตีตราจองให้เป็นประธานเฟดคนใหม่ได้เข้ามาลิ้มรสแรงกดดันที่แบกรับความคาดหวังของคนค่อนโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ