ผู้ว่าฯแบงก์ชาติอังกฤษชี้ผลการเจรจา Brexit จะเป็นปัจจัยผลักดัน BoE ปรับนโยบายการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 2, 2017 22:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวว่า ขณะนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะผลักดันให้ BoE ทำการปรับนโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ย คือผลการเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับการทำข้อตกลงแยกตัวจาก EU (Brexit)

"BoE กำลังจับตาเพื่อดูความคืบหน้า และความชัดเจนของผลการเจรจา Brexit" เขากล่าว หลังการประชุมนโยบายการเงินของ BoE ในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.50% พร้อมกับส่งสัญญาณว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ นายคาร์นีย์ยังคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเหนือระดับ 2% ภายในช่วงเวลา 3 ปี

"การที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับมาสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% หากไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย" เขากล่าว

นายคาร์นีย์ยังระบุว่า อัตราผลตอบแทนในตลาดในขณะนี้ได้รวมการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ BoE มีมติด้วยคะแนนเสียง 7-2 เห็นพ้องให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.50% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันนี้

ขณะเดียวกัน BoE ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีขอบเขตที่จำกัด

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี หลังจากที่ BoE ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในเดือนก.ค.2550

ก่อนการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ BoE ได้แสดงความกังวลต่อการขยายตัวที่ร้อนแรงของเศรษฐกิจอังกฤษ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับ 3% ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี และอัตราการจ้างงานแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ

ตลาดการเงินคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตที่สดใสเมื่อวานนี้ และมีการเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ผลการสำรวจของไอเอชเอส มาร์กิต/ซีไอพีเอสระบุวานนี้ว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรดีดตัวขึ้นแตะระดับ 56.3 ในเดือนต.ค. จากระดับ 56.0 ในเดือนก.ย.

ทั้งนี้ ดัชนีที่อยู่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตยังคงมีการขยายตัว โดยได้ปรับตัวเหนือระดับ 50 เป็นเวลา 15 เดือนติดต่อกัน

ดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงานต่างปรับตัวขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 3 สูงกว่าไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.3% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

เมื่อเทียบรายปี เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัว 1.5% ในไตรมาส 3 โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมรถยนต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ