สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นในวันนี้ (16 พ.ค.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 0.2% ในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสครั้งแรกในรอบ 1 ปี และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.1%
เมื่อเทียบเป็นรายปี GDP ไตรมาส 1 หดตัวลง 0.7% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.2%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ GDP ญี่ปุ่นหดตัวลงนั้น มาจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและการนำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งได้บดบังการเติบโตของการลงทุนด้านทุน (capital investment) โดยการส่งออกในไตรมาส 1 ลดลง 0.6% เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องพึ่งพาการส่งออก ขณะที่การนำเข้าพุ่งขึ้น 2.9% ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อตัวเลข GDP เช่นกัน
ส่วนการลงทุนด้านทุนปรับตัวขึ้น 1.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาส ขณะที่การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้น 0.04% ซึ่งแม้เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาส แต่ราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
การเปิดเผยตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นมีขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เตือนเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า นโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แต่ BOJ มีแนวโน้มที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หลังจากกรรมการบางส่วนของ BOJ ส่งสัญญาณว่า BOJ มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% และ BOJ จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมาย