ภาพรวมเศรษฐกิจเยอรมนีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรกอย่างเห็นได้ชัด โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา จากการเปิดเผยรายงานประมาณการครั้งที่สองในวันนี้ (23 พ.ค.)
สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีระบุว่า GDP ใน Q1/2568 ขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่เคยให้ไว้ที่ 0.2% โดยปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตมาจากภาคการค้าและการบริโภค
ตัวเลข 0.4% ดังกล่าวเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดของเศรษฐกิจเยอรมนี หลังจากที่ซบเซามาโดยตลอดนับตั้งแต่ช่วง Q3/2565 ที่เคยขยายตัว 0.6%
ก่อนหน้านี้ GDP เยอรมนีหดตัว 0.2% ใน Q4/2567 ทำให้เกิดความกังวลว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ซึ่งหมายถึงภาวะที่ GDP เติบโตติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส
เยอรมนีซึ่งมีเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกสูง เคยถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีในปี 2567 ด้วยมูลค่าการค้าสินค้าระหว่างกันสูงถึง 2.53 แสนล้านยูโร (2.864 แสนล้านดอลลาร์)
รูธ แบรนด์ ประธานสำนักงานสถิติฯ กล่าวว่า ตัวเลขผลผลิตในภาคการผลิตและการส่งออกในเดือนมี.ค. แข็งแกร่งกว่าที่ประเมินไว้ในตอนแรกมาก
ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกพุ่งขึ้นถึง 3.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้นำเข้าในสหรัฐฯ เร่งสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อรับมือก่อนที่มาตรการทางภาษีจะมีผลบังคับใช้ ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนก็เติบโตได้ดีกว่าไตรมาสก่อน ๆ โดยขยายตัว 0.5%
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐกลับปรับตัวลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสำนักงานสถิติฯ ชี้ว่าเป็นผลมาจากการใช้งบประมาณชั่วคราว
ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลผสมของอดีตนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลชุดก่อนไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณปี 2568 ได้ทัน ส่งผลให้เยอรมนีต้องบริหารประเทศภายใต้งบประมาณชั่วคราวมาตั้งแต่ต้นปี
ขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ของเยอรมนีได้เริ่มเตรียมการจัดทำงบประมาณสำหรับปี 2568 และ 2569 อย่างเร่งด่วนแล้ว